ผู้ถาม : กราบหลวงตาเจ้าค่ะ การปฏิบัติ ก็เพื่อให้จิตเดิมแท้ (ที่มีอวิชชา) นั้น “หายโง่” เพื่อที่จะไม่หลงมีตัวเรา ไปยึดถือ ใจที่เป็นความบริสุทธิ์อยู่แล้ว ให้มันเป็นความ
“ไม่บริสุทธิ์” เพราะมีตัวเราไปยึดถือ มันจึงเป็นอวิชชาอีกเจ้าค่ะ
ใช้ “สติ สมาธิ ปัญญา” ถลุงอวิชชา ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งสกปรกที่เป็นแร่ธาตุที่ปลอมปน อยู่ในแร่ทองคำแท้ออกมา ทองคำแท้ก็บริสุทธิ์โดยตัวของมันเอง ไม่ใช่ไปทำให้แร่ทอง
คำแท้นั้นบริสุทธิ์
การปฏิบัติที่เอาตัวเราไปยึดถือใจ เพราะอยากได้ใจที่บริสุทธิ์ อยากได้พระนิพพาน เลยเอา “ความมี ไปหา ความไม่มี” มันก็เลยเป็นทุกข์ เพราะมันไม่สามารถจะไปหาได้ ด้วยความโง่จึงหลงปฏิบัติผิดด้าน
มานานแสนนาน
“การปฏิบัติเพื่อกลับไปสู่ความไม่มี”
ไม่มี..... มี
มี........ ไม่มี
เป็นสัจธรรมความจริงของธรรมชาติที่ไม่อาจปฏิเสธได้เจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณหลวงตาที่เมตตาทำให้ตาสว่างเจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ ปริศนาธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
“อะไรเอ่ย...
มี... ไม่มี
ไม่มี... มี”
ใครค้นพบ จบประสงค์
“......ถามว่า “มี...ไม่มี ไม่มี...มี” นี้คืออะไร
ที่นี้ติดหมดคิดแก้ไม่ไหว เชิญชี้ไห้ชัดทั้งอรรถแปลโปรดแก้เถิด
ที่ว่าเกิด “มี” ต่าง ๆ ทั้งเหตุผล แล้วดับ “ไม่มี” ชัดใช่สัตว์ คน
นี้ข้อต้น “มี… ไม่มี” อย่างนี้ตรง
ข้อปลาย “ไม่มี… มี” นี้เป็นธรรม ที่ล้ำลึก ใครพบจบประสงค์ “ไม่มี” สังขาร “มี” ธรรมที่มั่นคง นั้นแหละองค์ธรรมเอกวิเวกจริง.......”
(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
ขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง
ขอประทานอนุญาตขยายความเพื่อความเข้าในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป อันจะเป็นประโยชน์แก่ศิษย์ทั้งหลาย
คำว่า “มี ... ไม่มี”
ข้อแรก “มี” นี้ หมายความว่า ความมี ซึ่งเป็นสังขารทั้งหมด “ไม่มี” สาระแก่นสาร ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ซึ่งความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสมมติ คือ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่เป็นตัวตนเที่ยงแท้มั่นคงอยู่จริง เกิดมาจากการผสมปรุงแต่งกันของธาตุตามธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง) และ วิญญาณธาตุที่มีอวิชชา จึงต้องมีเสื่อมไปสู่ความแก่ เจ็บ ตาย เน่าเปื่อยผุพังสลายกลับคืนสู่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และ วิญญาณธาตุตามธรรมชาติของเขา เป็นธรรมดา
จะไม่ให้เสื่อมไปสู่ความแก่ เจ็บ ตาย ไม่พลัดพรากเป็นไม่มี
ผู้ใดไม่มีสติ ปัญญา เป็นคนหลง เพราะมี “อวิชชา” ติดมากับวิญญาณธาตุ ก็จะหลงยึดมั่นถือมั่นเป็นจริง ๆ จัง ๆ จนเป็นทุกข์ โศก เศร้า เสียใจ คับแค้นใจ หดหู่ เหี่ยวแห้งใจ วิตกกังวล หม่นหมอง
คำว่า “ไม่มี ... มี”
ข้อหลัง “ไม่มี” คือ ถึงซึ่งความไม่มีความหลงยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป หรือ “วิญญาณธาตุ” สิ้นอวิชชา มีคุณสมบัติเป็นเหมือนธาตุอากาศ ซึ่งเป็นความว่าง แต่เป็นความว่างที่มีความรู้
ถึงซึ่งธรรมชาติที่ไม่มีสังขาร (ความคิด ความปรุงแต่ง) ไม่เกิดดับ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พ้นสมมติ
ใครถึงซึ่งความไม่มี จะ “มี” ธรรมที่มั่นคง นี่แหละองค์ธรรมเอกวิเวกจริง (เอโกธัมโม หรือ เอกะธัมโม)
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563