หลวงตา : อาการป่วยที่บอกมาทั้งหมดนั้น เกิดจากหลงยึดถือว่ามีเราเป็นตัวตน หรือ มีตัวตนของเราอยู่ในขันธ์ห้า หรือ ยึดถือร่างกาย หรือ ยึดถืออาการของจิตใจ เช่น อาการโปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่างเปล่า หรือ อาการที่ไม่สบาย ว่าเราเป็น หรือ เป็นของเรา จึงมีตัวเราแช่ติดกับอาการหรืออารมณ์
จะหายขาดได้ เมื่อ
“พบผู้รู้ ปล่อยวางผู้รู้”
หรือ
ธรรมชาติของธาตุรู้เขาสักแต่ว่ารู้เรา แต่นี่.....
เราเอาเรารู้เรา แล้วยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงแช่อาการหรืออารมณ์สนิท
ผู้ถาม : กราบหลวงตาเจ้าค่ะ เมื่อเช้าพิจารณาเรื่องนี้อยู่เจ้าค่ะ เลยรู้ว่ายังเข้าใจผิดตัว ในขณะที่ใข้ชีวิตประจำวัน ผู้รู้ที่เป็นวิญญาณขันธ์มันเกิดดับตลอดเวลา สภาวะมันเปลี่ยนแปลงตลอด เว้นแต่ตอนนอนหลับสนิทไป
แต่ผู้รู้ตัวจริง (วิญญาณธาตุ) นั้นคุณสมบัติเขาคือ “แค่รู้” ทุกสรรพสิ่งและเขารู้ตลอด ไม่ต้องตั้งใจ จงใจ หรือพยายามเลย ไม่ว่าจะทำอะไร หรืออยู่ในสภาวะไหน ไม่อาจรอดพ้น “รู้” ไปได้
มันต่างกันตรงที่ว่า พอมีตัวเราไปเป็นผู้รู้ มันจะรู้สึกรู้ แต่ลึก ๆ แล้วมันกลับมีความกลัว ความกังวล (กลัวไม่รู้) แฝงอยู่เจ้าค่ะ
แต่ในขณะที่มันสักแต่ว่ารู้ มันไม่มีความกลัวว่าเราจะไม่รู้เหลืออยู่เลย แต่มันเหมือนกับความรู้นั้นมันแทรกซึมไปทั่วทุกอณูประมาณนี้เจ้าค่ะ
“อาการของจิตใจ เช่น อาการโปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่างเปล่า” ของหนูชัดมาก ๆ ค่ะ
ตรงนี้เลยค่ะหลวงตา มีเจออยู่ค่ะ แต่ไม่นานเหมือนเมื่อก่อนค่ะ มันจะเกิดหลังจากพอมีอะไรเกิดขึ้น วิญญาณขันธ์พอรู้ปุ๊บมันกลับ มาเป็นโปร่ง โล่ง เบา คราวนี้ต้องรู้ว่า มันเป็นแค่สภาวะเหมือนกันค่ะ เร็วขึ้นค่ะหลวงตา
หลวงตา : มันยังไม่เห็นว่า.... หลงยึดถือมีตัวหนูเป็นตัวตนอยู่ในใจ
ผู้ถาม : กราบ กราบ กราบ ???????? มันแฝงอยู่เหรอคะ
หลงยึดถือมีตัวหนู เป็นตัวตนอยู่ในใจ… สำคัญมากนะคะ… ต้องขอเคลียร์ค่ะ
อ๋อ ปล่อยที่ ใจ ที่ไม่ใช่ เรา ลงทีเดียวเลยไหมคะ
คือ ผู้รู้ใจ ก็ไม่ใช่ ใช่ไหมคะ
วิญญาณธาตุ ได้แต่รู้วิญญาณขันธ์ เหมือนกับตอนนี้ที่ วิญญาณธาตุ รู้ว่า กำลังพยายามนึกคิด (สังขาร)
หลวงตา : ความรู้สึกว่ามีตัวหนูอยู่ในใจนั้น แท้จริงเป็นเพียง “สังขาร” ที่เกิดจากอวิชชา ที่ยึดถือจิตเดิมแท้หรือใจ (ธาตุรู้บริสุทธิ์) ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงเข้าสู่วงจรปฏิจจสมุปบาท เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยจึงทำให้เกิดวิญญาณ (ปฏิสนธิวิญญาณ)......
เมื่อหลงยึดถือธาตุรู้ จิต ใจ หรือ ปฏิสนธิวิญญาณ ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา คือ มีตัวเรามาเกิดรวมเป็นขันธ์ห้า เมื่อเกิดก็ยึดขันธ์ห้าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา
แล้วหลงมีตัวเราไปยึดถือคนอื่น ๆ มาเป็นของเรา จึงวนเวียนอยู่ในทุกข์ เพราะกลัวว่าคนที่เรารักจะตายจากไป หรือ กลัวว่าตัวเราจะตายจากไป แล้วก็หลงยึดถือว่าเมื่อตายแล้ว จะมีตัวตนของเราออกจากร่าง
จึงยึดถือให้เป็นทุกข์ซ้ำซ้อนต่อกันไปเรื่อย ๆๆ .....
ต้องดับสวิตซ์ใหญ่ที่ “อวิชชา” คือ ความหลงยึดถือว่ามีเรา มีตัวเรา มีตัวตนของเรา
เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และ ความทุกข์ทั้งมวลก็ดับพร้อม
ผู้ถาม : ธาตุรู้ = เป็นได้แค่รู้
ต้องดับสวิตซ์ใหญ่ที่ “อวิชชา” คือ ความหลงยึดถือว่ามีเรา มีตัวเรา มีตัวตนของเรา
เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และ ความทุกข์ทั้งมวลก็ดับพร้อม
จึงต้องพิจารณาให้เห็นว่า กาย ใจ จริง ๆ ไม่ใช่เรา เป็นกระบวนการในธรรมชาติไปเรื่อย ๆ จนใจยอมรับและถอดถอนไปเองใช่ไหมคะ
เหมือนเส้นผมบังภูเขากับฝุ่นเข้าตาอยู่ค่ะ
หลวงตา : ดับความหลง (อวิชชา) ที่ติดมากับธาตุรู้
โดยหลงยึดถือว่า จิต ใจ วิญญาณ หรือ ธาตุรู้ ที่มาเกิด เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา มีตัวเรามาเกิด และ มีตัวเราออกจากร่างไป
เมื่อไม่มีอวิชชาไปหลงยึดถือธาตุรู้ ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
ก็จะเหลือแต่ความรู้บริสุทธิ์ (นิพพาน) ที่สักแต่ว่ารู้… ไม่ยึดทุกปัจจุบันขณะ
จิต ใจ วิญญาณ หรือ ธาตุรู้ ก็เป็นธรรมธาตุ นิพพานธาตุ เป็นธาตุธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาธารณะ เหมือนธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ไม่มีเจ้าของ ไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
จึงไม่ต้องปล่อยวาง เพราะไม่มีตัวเราไปยึดถือขันธ์ห้า และไม่มีตัวเราไปยึดถือคนอื่น สิ่งอื่นอีก
สิ้นอวิชชา คือ หลงว่ามีตัวตนของเราในธาตุรู้ ใจก็เป็นความรู้ที่ว่างเปล่า เหมือนดั่งอวกาศ ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีขอบเขตตลอดกาล
ผู้ถาม : เข้าใจนะคะ เหมือนที่หนูอธิบายหลวงตาไปว่า ปัญญาในการรู้แจ้ง (ธาตุรู้) ที่เกิดเองแต่ละขณะ ไม่ใช่เรา เขารู้ของเขาเอง
หลวงตา : ปล่อยวางผู้มีปัญญารู้แจ้ง ด้วย
ผู้ถาม : อ๋อ ค่ะ ทุกอย่างที่รู้ทั้งหมดตอนนี้ไม่ใช่หนูเลยค่ะ วูบค่ะ
หลวงตา : ไม่เหลืออะไร ไม่มีผู้ยึดถืออะไร ...ใจว่างเปล่า… ไม่มีผู้ยึดถือใจว่างเปล่า...ใจว่างเปล่าโดยปราศจากผู้ยึดถือ
ผู้ถาม : โล่งหัวค่ะ วับเดียว แบบนี้ก็ได้เหรอคะ
หลวงตา : “สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ” แม้ธรรมก็ไม่อาจยึดมั่นถือมั่น
ผู้ถาม : สาธุ สาธุ สาธุ อยากกระโดดจากจอไปหาหลวงตาค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ ค่ะ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563