ผู้ถาม : กราบนมัสการองค์หลวงตาพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพสูงสุด
ตอนนี้ศิษย์ควรพิจารณากาย ม้างกายต่อไปและ, หรือ สักแต่ว่ารู้ รู้เรา ควรทำควบคู่กันไปหรืออย่างไรเจ้าคะ
วันนี้ศิษย์พิจารณากาย + ม้างกาย + รู้เราหรือสักแต่ว่ารู้ (ไม่มีเรารู้) กราบขอความเมตตาชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : ธรรมทั้งการพิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาผู้รู้ เพื่อให้รู้แจ้งถึงใจว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะได้สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนคงที่ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา....
จึงจะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม)
ซึ่งเกิด ไม่ดับ ไม่มีการไป การมา การหยุดนิ่งอยู่
ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
ไม่ใช่อากาศ (ความว่าง)
ไม่ใช่ความว่างในอรูปฌาน
ไม่ใช่อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (อาการของจิตหรือของใจ) จึงไม่อาจถูกรู้ได้ทางอายตนะภายใน และไม่ใช่อายตนะภายใน
ไม่ใช่ขันธ์ห้า
ไม่อาจถูกทำลายได้
เป็นอมตธาตุ อมตธรรม
มีชื่อสมมติว่า “จิตบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ ธาตุรู้บริสุทธิ์ นิพพาน… ซึ่งไม่ได้เป็นของเรา
แต่ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อปล่อยวางกาย จิต ผู้รู้ (ตัวปลอม) แล้ว จะมาหลงยึดถือจิตบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ ธาตุรู้บริสุทธิ์ หรือ นิพพาน
เมื่อรู้เท่าทันความหลงมีตัวตน มีเรา ตัวเรา มาหลงยึดถือความบริสุทธิ์ หรือ นิพพาน.... จึงจะสิ้นตัวตนของผู้หลงยึดถือ มีแต่ความบริสุทธิ์เท่านั้น เรียกว่า “นิพพาน”
ดังนั้น การพิจารณาธรรมใดชัดเจนในปัจจุบัน ก็ให้น้อมนำธรรมนั้นมาพิจาณากัดติดจดจ่อ เพราะมีความพอใจ (ฉันทะ) ความเพียร จิตตะ (เอาใจใส่จดจ่ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย) วิมังสา (ตริตรองในเหตุผลในอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) จนเห็นสัจธรรมความจริงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีโพชฌงค์ 7 ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ .....
***** สำคัญที่ต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ขันติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จึงจะพ้นจากทุกข์ได้
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563