ผู้ถาม : หลวงตาเจ้าคะ หนูมีเรื่องที่สงสัยอีกแล้วเจ้าค่ะว่า การปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้นะเจ้าคะ ถูกหรือผิดยังไงเจ้าค่ะ
- ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาแม้ในขณะทำงาน
- ทำงานก็ทำงานไป ไม่ต้องดูลม แต่ก็ไม่ได้หลงนะเจ้าคะ หรือจะเรียกว่าหลงหรือเปล่าเจ้าคะ ถ้ามันทำงานและเพลินไปกับงาน แบบมีสติ
- ทำเหมือนแม่วัวเลี้ยงลูก ที่หลวงตาเคยสอนคืองานก็ทำไปแต่ก็ให้เหลือบมาดูลมหายใจบ้าง เหมือนเตือนสติตัวเองหนะเจ้าค่ะ
ถามเพื่อให้หายโง่เจ้าค่ะ เพราะคิดว่าจะไปดูลม มันเลยเหมือนมีเราที่ไปทำ แต่หนูคิดว่าหลวงตาจะต้องตอบว่ายังมีตัวเราผู้จะไปเอา แต่มันสงสัยจริง ๆ เจ้าค่ะ
กราบขอเมตตาจากหลวงตาเจ้าค่ะ หรือว่าแต่ละวิธี เหมาะกับผู้ปฏิบัติคนละขั้นกันเจ้าคะ เหมือนกับที่หลวงตาเคยเปรียบว่าประถม มัธยม มหาวิทยาลัยหนะเจ้าค่ะ
หลวงตา : ฝึกสมถะ (ความสงบ) ก็เพื่อให้มีความสงบใจพอที่จะพิจารณาให้เกิดปัญญาเห็นสัจธรรม (วิปัสสนา)
จึงเกิดมีวิธีการต่าง ๆ ซึ่งวิธีการทั้งหมดสร้างขึ้นมา เพื่อ ให้เกิดปัญญารู้แจ้งจากใจในสัจธรรมความจริงของร่างกายจิตใจตนเอง และ คนที่รัก คนที่ชัง ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ เป็นสมมติอย่างที่รู้เห็นเพียงชั่วขณะ จนกว่าจะรู้เห็นตามความเป็นจริง จนใจยอมรับตามความเป็นจริง สิ้นสงสัย สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นตัวตนคงที่
ถ้ายังหลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีเราเป็นตัวเป็นตนมั่นคง ก็จะไม่สิ้นหลงเอาตัวเราพยายามกระทำอะไร เพื่อให้ตัวเราได้รับผลประโยชน์ในการกระทำนั้น เช่น ได้พระนิพพาน ก็จะเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ และความทุกข์ทั้งมวล
***** ดิ้นรน ค้นหา ค้นคว้า มีศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา ขันติ หิริ-โอตตัปปะ หรือ ทำสมถะ และ วิปัสสนา ซึ่งเป็น “สังขาร” ก็เพื่อ สิ้นหลงสังขาร
(อาศัยสังขาร เพื่อ สิ้นหลงสังขาร)
***** สิ้นหลงสังขาร ก็พบใจไม่สังขาร (วิสังขาร)
สิ้นหลงเอาสังขารมายึดถือสังขารและวิสังขาร
ก็ถึงใจไม่สังขาร (วิสังขาร)
ถึงใจ ถึงนิพพาน ย่อมรู้แก่ใจ (ปัจจัตตัง)
พระอริยะทั้งหลายอยู่กับรู้แก่ใจนี้อย่างเป็นอมตะ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563