ผู้ถาม : กราบรบกวนเรียนถามครับหลวงตา มีโยมฟังธรรมหลวงตาแล้วเข้าใจว่า การปล่อยหมดตามที่หลวงตาสอนนั้น ต้องให้กิเลสหมดก่อนแล้วค่อยปล่อยหมดได้ แต่ผมเข้าใจว่า ความหมายที่หลวงตาสอนให้ปล่อยนั้น ปล่อยได้ในทันทีที่เข้าใจแล้วไม่คิดจะยึดจะเอาอะไร ไม่ข้องเกี่ยวว่าปัจจุบันกิเลสมากหรือน้อยอยู่ ปล่อยในปัจจุบันทันที ไม่มีการรอไปปล่อยในอนาคต ปล่อยปุ๊บก็เบาปั๊บ เมื่อไม่มีผู้ยึดถือ กิเลสก็ไม่ต้องพูดถึง อะไรประมาณนี้ ผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไหมครับหลวงตา กราบครับ
หลวงตา : ปล่อยวางคือปล่อยวางผู้รู้(จิตหรือวิญญาณขันธ์) และปล่อยวางเจตสิก (เวทนา สัญญา สังขาร) ตลอดเวลา หรือปล่อยวางทั้งธรรมารมณ์ที่ถูกรู้ และปล่อยวางผู้รู้ตลอดเวลา ก็เท่ากับปล่อยวางหรือละอุปาทานขันธ์ห้า ตลอดเวลา ไม่ใช่รอให้สิ้นกิเลสแล้วจึงปล่อยวาง ถ้าไม่มีสติตั้งที่ใจ รู้ที่ใจ ละที่ใจ ปล่อยวางที่ใจ คือปล่อยวางตัวเราผู้รู้ตลอดเวลา มันจะหลงส่งจิตออกนอกไปสนใจแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) ที่ถูกรู้ มันจะเป็นกิเลสตลอดเวลา
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560