ผู้ถาม : หลวงตาเจ้าคะ เพิ่งรู้ว่าที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้งที่เห็นความคิด มันมีน้ำหนัก มันดูเป็นความคิดจริง ๆ จัง ๆ "แม้รู้ว่ามันเป็นความคิด แต่กลับปรุงแต่งเอาความคิดมาเป็นความจริง" ก็เพราะมันมี "ตัวเรา" เป็นคนเห็นความคิดอยู่ ถ้าสับคัตเอาต์ไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไรอีก เหมือนที่พระพุทธเจ้าว่า ใจกลางของน้ำที่กระเพื่อมนั้น มันว่างเปล่า แต่ถ้าไม่ได้เห็นไปถึงใจกลางที่ว่างเปล่า มันก็ไปจ้องอยู่ที่วงน้ำที่กระเพื่อม เห็นแล้วก็เป็นผัสสะให้เกิดวงน้ำที่กระเพื่อมอันใหม่เรื่อยไปไม่จบสิ้น วงแล้ววงเล่า แต่ถ้าเห็นใจกลางมันเสียแล้ว คือ ตัวตนไม่มี มันว่างเปล่า มันก็จบ สงบ หยุดนิ่งได้
หลวงตา : มันเป็นเช่นนั้นเอง เนื่องจาก "ใจ หรือ ธรรมชาติ หรือ ธรรมธาตุ" เป็นวิสังขารหรืออสังขตธาตุ ที่ไม่อาจคิด หรือไม่อาจปรุงแต่ง ไม่อาจกระเพื่อมได้ จึง ...
1. สงบอย่างยิ่ง
2. ว่างอย่างยิ่ง
3. ไม่มีเนื้อที่ ที่จะบรรจุอะไรไว้ได้ เช่น ... ไม่อาจบรรจุสามี ภรรยา ลูกหลาน พ่อแม่ ... อยู่ในใจให้หนักใจหรือทุกข์ใจได้ แต่เหตุที่รู้สึกหนักใจ ทุกข์ใจนั้นไม่ใช่ว่าทุกข์กับสิ่งที่อยู่ในใจ แต่เป็นเพราะหลงคิดปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วหลงยึดถือความเป็นตัวตนของเราไว้ในใจอย่างมั่นคง จึงเรียกว่าหลงยึดมั่นถือมั่น แล้วก็หลงเอาความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นตัวเราในใจนั้นไปยึดถือ ร่างกายและจิตใจของตนเอง เช่น กลัวแก่เจ็บตาย หรือยึดถือคนอื่น สิ่งอื่น ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีดี ... จะเห็นได้ว่าเวลาหลับสนิท ไม่มีความคิดหรือความรู้สึกอยู่ในใจเลยว่าเรามีตัวตนหรือมีตัวตนของเราอยู่ในใจ ดังนั้น ในใจที่รู้สึกว่าเราเป็นตัวเป็นตน หรือมีตัวตนของเรานั้น จึงเป็นเพียงความหลงปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นขณะตื่นนอนมาแล้วเท่านั้น
ถ้าหากเห็นความจริงอย่างนี้ ใจหรือธาตุรู้ตามธรรมชาติก็สิ้นหลง หลังจากนี้ก็มีแต่ความว่างเหมือนกับความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล ที่ไม่มีดวง ไม่มีขอบเขต ไม่มีเนื้อที่ ไม่มีสุขทุกข์ ผ่องใสหรือเศร้าหมอง ไม่มีกุศลหรืออกุศล ไม่มีบุญบาป ดีชั่ว รักชัง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า "ใจเป็นหนึ่งเดียวกับธรรม" หรือ "ธรรมเป็นหนึ่งเดียวกับธาตุรู้" เรียกว่า "ธรรมธาตุ" ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ "อวิชชา" หรือความหลงผิดดับไปตัวเดียว เท่านั้น
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560