ผู้ถาม : หลวงตาคะ เพิ่งพบและได้คุยกับอาจารย์ทางวิปัสสนา ท่านบอกว่า ผู้ที่จะเข้ากระแสนั้น ต้องได้เห็นจิตเกิดดับ เข้าใจว่าท่านพูดตามลำดับญาณ ดิฉันเคยเห็นการเกิดดับของกาย การแยกของขันธ์ แต่ไม่เคยเห็นการเกิดดับของจิต หลวงตาช่วยอธิบายได้ไหมคะ
จำได้ว่า เคยสัมผัสจิตนิ่งในขณะที่สังขารเคลื่อนไหว เหมือนป่าสูงที่นิ่งสงัดเงียบในธรรมชาติเดียวกับที่น้ำตกที่ไหลเฉี่ยวไหลเชี่ยว เป็นโจนฟาดก้อนหินในสายธาร อันนี้มันเกี่ยวอย่างไรกับสภาวะที่เห็นการเกิดดับของจิต (ที่ดิฉันคิดว่ายังไม่เคยเห็น) ดิฉันเคยเห็นการขาดเป็นท่อนๆ ของเสียงขณะฟังเทศน์ แต่นั่นก็ไม่ใช่การเกิดดับของจิต ใช่ไหมคะ
หลวงตา : ที่ว่าต้องเห็นสังขารเกิดดับนั้น คือผู้พิจารณากาย(กายสังขาร) เห็นความไม่เที่ยง จนปลงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายหมดสิ้น ระเบิดอวิชชาขาดกระเด็นก่อนครั้งแรก ตกกระแสธรรมครั้งแรก หลังจากนั้น เห็นจิตเกิดดับ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้ แล้วปล่อยวางจิตปรุงแต่ง(จิตตสังขาร) ระหว่างนั้นกิเลสจะเบาบางไปมาก จนขณะจิตหนึ่งหยุดปรุงแต่งได้ในจิตเดียวด้วยจิตที่รู้แจ้งถึงใจของเขาเอง ระเบิดอวิชชาขาดกระเด็นจนหมด คือไม่กลับไปหลงอีกเลย ก็พ้นทุกข์(นิพพาน) แต่ถ้าเหลืออีกหนึ่งส่วน ใจเขาจะปล่อยวางตัวเขาเอง คือ ไม่หลงยึดถือใจ อวิชชาจึงจะขาดหมดสิ้น นี่พูดตามประสบการณ์ของการปฏิบัติ
แต่กรณี ผู้ที่เคยพบน้ำไหลนิ่ง จนสะเทือนถึงใจ คือ จิตคิดปรุงแต่งเคลื่อนไหวเกิดดับ แต่ใจ(วิสังขาร) ได้แต่รู้ ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว ไม่ปรากฏอาการใด ไม่ปรากฏอาการของผู้รู้ ไม่ปรากฏตัวใจ พบเห็น "ใจ" ได้ชัดเจนถึงใจ สามารถเป็นใจที่ได้แต่รู้ได้เรื่อยๆ คือ ไม่หลงไปเป็นผู้คิด ผู้ปรุงแต่ง หรือ ไม่หลงยึดถือสังขารได้เรื่อยๆ ทั้งวัน สามารถเป็น "ใจ"(วิสังขาร) ได้ถึงหนึ่งในสาม หรือ 25%(เป็นตัวเลขสมมติ) ซึ่งเจ้าตัวก็รู้ได้ด้วยตัวเอง ก็น่าจะเรียกว่าตกกระแสแล้ว เพราะต่อจากนั้น ก็จะมีสติปัญญา ที่จะไม่หลงไปเป็นสังขาร คือ เป็น "ใจ" มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเคยพบ "ใจ" มาแล้ว จนกระทั้งสิ้นหลงสังขารก็เป็นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกว่าบรรลุธรรม หรือ พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ที่ว่าตกกระแสธรรม เพราะเคยพบใจที่นิ่งในความไหล เพราะ “ใจ (วิสังขาร)" นั่นแหละ คือ อสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่อาจปรุงแต่งได้ จึงพ้นจากทุกข์ ส่วนสังขารธรรม เป็นธรรมที่ปรุงแต่ง ย่อมตกอยู่ใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงไม่พ้นทุกข์ ท่านจึงกล่าวว่า "พบ "ใจ" พบธรรม ถึง "ใจ" ถึงนิพพาน"
ถ้ายังพยายามคิดดิ้นรนค้นหา ... พยายามจะทำอะไร เพื่อจะให้ได้ ให้ถึง ให้เป็นอะไร ... สงสัย!! ... สงสัย!! ... เป็นต้น ก็จะหลงคิดหลงปรุงแต่ง ไม่อาจเป็น "ใจ"
ให้รู้เท่าทันสังขารและปล่อยวางสังขารตลอดเวลา ก็จะพบ "ใจ" ปฏิบัติด้วยการ "ปล่อยวาง" ให้หมดตลอดเวลาทั้งสังขารและวิสังขาร ก็จะสิ้นสงสัยเอง
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2560