ผู้ถาม : กราบนมัสการค่ะหลวงตา กราบขอโอกาสเรียนถามหลวงตาค่ะ ตอนนี้ฝึกรับรู้ทุกอย่างอย่างที่เป็น แต่ก็ใช้ความคิดพิจารณาเพื่อให้ปลงปล่อยวางไปพร้อมกันด้วยค่ะ ก็รู้สึกว่าเริ่มสงบขึ้น และยอมรับสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น แม้ในความรู้สึกจะยังมีอะไรค้างคาอยู่ แต่ก็พยายามรับรู้อย่างที่เป็น และพิจารณาว่าเป็นสังขาร เราไม่มี ไม่ทราบว่าตอนนี้ปฏิบัติถูกไหมคะ การใช้ความคิดพิจารณามากๆ จะเป็นการเพิ่มอัตตาหรือทิฏฐิมานะเพิ่มขึ้นไหมคะ ยังมีความสงสัยอยู่ บางครั้งก็ยังเอาตัวเข้าไปหา บางครั้งก็ปล่อยผ่านไปได้ ไม่ดิ้นรนมากเหมือนก่อนค่ะ ถ้ายังไม่ถูกอย่างไร และควรแก้ไขสิ่งใด ขอหลวงตาเมตตาชี้แนะด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
หลวงตา : คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิดจึงจะรู้ คือ รู้คิด
ผู้ถาม : กราบขอบพระคุณค่ะ คือต้องหมั่นมีสติสังเกตว่าให้รู้ว่าคิด ไม่หลงเอาตัวไปคิด แต่บางทีพอหลงคิดไปแล้ว ก็หาทางออกมาให้อยู่กับรู้ไม่ได้ เหมือนตอนนี้ค่ะ
หลวงตา : ก็ให้รู้ตัวเราผู้หลงคิด
ผู้ถาม : คือให้เห็นตัวเราเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่กำลังคิด และก็ให้ระวังไม่ให้เข้าไปเพ่งอัดเข้าไปอีก ใช่ไหมคะ
หลวงตา : ถ้าเพ่ง ก็ให้สักแต่ว่ารู้ตัวเราผู้เพ่ง
ผู้ถาม : คือสักแต่ว่ารู้ตัวเราผู้เพ่ง แม้จะยังเพ่งอยู่ ไม่ได้ไปละ เพราะมันเป็นของมันแล้ว ทำได้แค่ละอาการที่จะเข้าเพ่งซ้ำอีก อย่างนี้ใช่ไหมคะ
หนูมีอีกเรื่องที่จะกราบขอโอกาสเรียนถามหลวงตา เรื่องถอนอธิษฐาน ที่หลวงตาเคยบอกว่าถอนไม่ขาด หนูก็ถอนมาเรื่อย ๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่มีอะไร แต่บางครั้งก็หยิบขึ้นมาอีก เหมือนที่ฟังจากไฟล์เมื่อเช้า เวลาถอนบางครั้งก็กังวล และไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีอะไรที่ต้องถอนอธิษฐานเป็นพิเศษอีกไหมคะ
หลวงตา : ผู้คิด ผู้กังวล ผู้แสดงอาการต่าง ๆ ผู้เคลื่อนไหวเกิดดับได้ รวมทั้ง ผู้เจตนา จงใจ ตั้งใจ พยายามดูรู้เห็น เป็นสังขาร หรือ สิ่งปรุงแต่งทั้งหมด ไม่ใช่ธาตุรู้ "ธาตุรู้" เป็นวิสังขาร หรือ อสังขตธาตุ ไม่อาจปรุงแต่งได้ จึงไม่อาจคิด ไม่อาจปรุงแต่งแสดง อาการใดๆได้ และไม่ปรากฏอาการให้ถูกรู้หรือเกิดดับได้ จึงไม่อาจมีเจตนา จงใจ ตั้งใจ พยายามอย่างใดๆ ได้ ส่วนความจงใจ ตั้งใจ เจตนา พยายามเป็นสังขารหรือสิ่งปรุงแต่ง
ผู้ถาม : กราบขอบพระคุณค่ะ เข้าใจที่หลวงตาสอนค่ะ แต่ยังมีความตั้งใจรู้อยู่ค่ะ เหมือนจะถูกดูดเข้าไป ถ้าตั้งใจรู้ แม้บางครั้งจะเข้าใจว่ามีความสงบและความเคลื่อนไหว ก็ยังเป็นสังขารปรุงแต่งใช่ไหมคะ นอกจากบางครั้งที่เผลอๆ ไม่ตั้งใจ ก็เข้าใจว่าน่าจะรู้ได้อย่างธรรมชาติ เพราะเห็นว่าความคิดเกิดดับเองได้ชัดค่ะ ตอนนี้หนูก็ยังไม่ทราบว่าจะให้รู้อย่างเป็นธรรมชาติได้ต่อเนื่องอย่างไรค่ะ แต่ถ้าจะให้รู้อย่างต่อเนื่อง ก็ปรุงแต่งอีกค่ะ ธาตุรู้ที่ไปรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในอิริยาบท รู้อยู่เห็นอยู่โดยไม่มีคำพูดอะไร เห็นเช่นนั้นบ่อยๆ โดยเราไม่มีเจตนาจะเข้าไปรู้ ไปรู้กับสิ่งใดๆหรือแทรกแซงกับสิ่งใดๆ นั่นน่ะคือธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ใช่หรือเปล่าเจ้าคะ โยมเข้าใจคำว่าจบเสียทีแล้วเจ้าค่ะ แค่ธาตุรู้ที่รู้โดยที่ไม่ได้ปรุงแต่งหรือรู้เฉยๆแบบไม่ยึดติดกับสิ่งใด นั่นคือธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ สิ่งแบบนี้โยมเคยได้มาหลายปีแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพิ่งจะมาเข้าใจชัดเจนตอนที่ได้ฟังธรรมะของหลวงตาค่ะ โยมมีโอกาสจะไปกราบหลวงตาเจ้าค่ะ
หลวงตา : อยู่ตามลำพังบ่อย ๆ แม้แต่ในห้องนอน หรือ ในห้องน้ำก็ได้ สำรวมเสียห้าประตู คือประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนประตูใจ เปิดอย่างอิสระ แล้วเพียรมีสติ สมาธิ ปัญญา สังเกตที่ประตูใจ อยู่เงียบด้วยความอดทนโดยไม่หลงคิดปรุงแต่งไป และไม่หลงไปพยายามไปดับความคิด แต่ถ้าหลงก็ให้รู้เท่าทันทันที ปล่อยให้จิตเขาคิดหรือแสดงอาการต่างๆ อย่างอิสระ จนเห็น ผู้คิด ไม่รู้ "ผู้รู้" ไม่คิด แต่ รู้คิด
ถ้าพบ "ผู้รู้" ที่ไม่อาจคิดหรือไม่ปรุงแต่งแสดงอาการใด (วิสังขาร) บ่อย ๆ จนเป็นปกติ หลังจากนั้น ทุกขณะปัจจุบันที่มีการกระทบหรือผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็จะเป็นการรับรู้อย่างเป็นอิสระตามปกติธรรมชาติ คือ จะเป็น "รู้" ที่เป็นวิสังขาร คือ ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิดหรือปรุงแต่งแสดงอาการต่าง เมื่อเป็น "รู้" ทุกขณะกระทบหรือผัสสะในปัจจุบัน ก็จะไม่หลงคิด หรือ หลงเอาตัวเราไปคิด แต่จะรู้ตัวเรา (ขันธ์ห้า) คิด เพราะ คิด ไม่ใช่ "รู้" ส่วน "รู้" ก็ไม่อาจคิด ส่วนการตั้งใจคิด ก็จะคิดอย่างมีสติ คือ คิดด้วยความรู้สึกตัวอยู่ จึงไม่หลงคิด เมื่อเป็นธรรมชาติ "รู้" ที่ไม่อาจคิดหรือไม่อาจปรุงแต่งได้ จึงไม่อาจหลงเป็นผู้คิดปรุงแต่งยึดถือให้เกิดกิเลสและความทุกข์ต่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) และธรรมารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) หรือ จะไม่หลงคิดปรุงแต่งเป็นดีรัก ชั่วชัง เกลียดทุกข์ รักสุข เพราะ ธรรมชาติของ"รู้" ก็ได้แต่แค่รู้ซื่อๆอย่างที่มันรู้ หรือ สักแต่ว่ารู้ ไม่อาจแทรกแซง ไม่อาจมีความอยากหรือไม่อยากอย่างใดต่ออารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ได้ เพราะ "รู้" เขาเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจคิดหรือปรุงแต่งได้ (วิสังขาร)
หลายท่านพยายามจะยึด "ผู้รู้" หรือ พยายามที่จะเป็น "ผู้รู้" ให้ได้ หรือ หลายท่านก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเข้าใจผิดว่า "ผู้รู้" คือ ความว่าง ก็พยายามยึดถือความว่างให้ถาวรไว้ เมื่อทำไม่ได้อย่างใจเสียทีก็เกิดความคับแค้นใจจนเป็นความทุกข์ หรือ ติดแช่อยู่ในอารมณ์ว่าง จนป่วยมีอาการผิดปกติหลายอย่างทั้งทางกายและทางใจ ถึงขั้นอาการป่วยหนักมาก ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความพยายามหรือความหลงยึดอย่างนั้น มันเป็นความหลงคิดปรุงแต่ง ไม่อาจจะเป็น "รู้" ตามปกติธรรมชาติได้ ถ้าเขาเหล่านั้น เว้นขาดจากความพยายามใด ไม่หลงเอาตัวเราไปเป็นผู้คิด หรือไม่หลงคิดปรุงแต่งไป ปราศจากความอยาก หยุดคิดปรุงแต่งดิ้นรนค้นหา หาเหตุ หาผล หาถูก หาผิด หาความสุข หาความว่าง หานิพพาน และยอมรับตามความเป็นจริงต่ออารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ทุกขณะปัจจุบันเสียเท่านั้น เดี๋ยว "รู้" ที่เป็นวิสังขาร ที่ไม่อาจคิด ไม่อาจปรุงแต่งได้ ก็จะปรากฏให้รู้แก่ใจขึ้นมาเอง
ถ้ายิ่งหา ก็ยิ่งไม่พบ ยิ่งอยาก ก็ยิ่งห่างไกลในเมื่อตัวตนของเราก็ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกแล้ว แม้ในปัจจุบันก็ไม่มีตัวตนของเราอยู่จริง เพราะเป็นเพียงสิ่งสมมติ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะหลงอยากให้ตัวเราไปได้ ไปเป็นอะไรอยู่อีกทำไม ถ้ายังพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งใดมาให้ตัวเรา มันก็เป็นอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ และทุกข์อยู่ตลอดไป
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560