ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ โยมติดตามฟังหลวงตาจากยูทูป และทางไลน์เป็นประจำ อยากจะขอให้หลวงตาเมตตาอธิบายคำว่าโยนิโสมนสิการให้หน่อยค่ะ คือได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่าให้โยนิโสมนสิการอยู่ในใจ แต่โยมยังเข้าใจไม่กระจ่างค่ะ ตอนนี้ฝึกมีสติรู้เท่าทัน สังขารไปรู้เห็นอะไรก็จะมาพูดอยู่ในใจ ที่เข้าใจคำว่าโยนิโสมนสิการ คือ การที่เรามาถามต่อว่าแล้วใครมารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือว่าให้บอกกับตัวเองไปว่านี่มันหลงคิดนิ นี่มันหลงปรุงนะ หรือว่าเมื่อมีความน้อยใจเกิดก็ให้รู้ แล้วให้รู้ต่อว่ามันเกิดเพราะยังไปยึด ไปเอาอดีตมาคิดปรุง อย่างนี้โยมเข้าใจถูกหรือไม่อย่างไรคะ ขอความเมตตาจากหลวงตาอธิบายให้กระจ่างด้วยค่ะ หลวงตา : ถูกต้องแล้ว โยนิโสมนสิการ คือ บอกสอนใจตนเองทุกขณะจิตปัจจุบัน ให้ปล่อยวางสังขาร คือ สิ่งปรุงแต่งทุกอย่างทั้งภายนอกร่างกาย และภายในร่างกาย และในจิตใจ ให้มีปัญญาเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือตัวตนของเรา อย่าเข้าไปหลงยึดมั่นให้เป็นกิเลสและความทุกข์ แล้วปล่อยวางเสียได้ จนถึงที่สุดบอกสอนใจของตนเองว่า เราเป็นใจหรือจิตเดิมแท้ หรือวิญญาณแท้ ๆ ที่มาเกิด ส่วนร่างกายจิตใจที่มีความรู้สึก คิดนึกตรึกตรองปรุงแต่ง จำได้หมายรู้ และสามารถรับรู้ทางอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายและใจนั้น เป็นสังขารที่ผสมปรุงแต่งเริ่มมาจากธาตุดิน คือสเปิร์มของพ่อ และ ไข่ของแม่ คือธาตุน้ำ แล้วกินซากพืชซากสัตว์ กินน้ำ ลม ไฟ เติมไว้ตลอดเวลา จึงมีชีวิตที่สามารถคิด พูด กระทำอะไรต่างๆ ได้ แล้วก็ตายแตกดับไป ไม่อาจคิด พูด ทำอะไรได้อีก ดังนั้น ทุกขณะปัจจุบันต้องไม่หลงยึดถือเอา สังขารที่คิด พูด ทำอะไรได้มาเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา เพราะเราเป็นวิญญาณ หรือใจ หรือจิตเดิมแท้ๆ ที่ไม่อาจคิด พูด ทำอะไรได้ ได้แต่รู้ขันธ์ห้า คือ ร่างกายที่แอบคิด พูด กระทำในที่ลับและที่แจ้งตลอดเวลา ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560