ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาครับ ช่วงนี้ผมขับรถทางไกลบ่อย เวลาขับรถจะเปิดซีดีจบซะทีฟัง ช่วงที่ฟังไฟล์ที่ 1 ถึงไฟล์ที่ 4 จิตจะตื่นทุกครั้ง ตามดูตัวพากษ์ได้เกือบตลอด เลยฟังวนอยู่ 4 ไฟล์นี้ครับ ขอโอกาสถาม 2 ข้อครับ
1. ขณะเห็นตัวพากษ์บางครั้ง จิตที่รู้จะมีการกด ทำให้แน่น แล้วจะมีจิตก็พากษ์ว่ากดหรือบางครั้งก็พากษ์ว่าแน่น แล้วก็รู้ตัวพากษ์ต่อไปเรื่อย ๆ แม้จะมีอาการกดสลับไปมา โดยไม่มีเราได้ไปยึดถือ ดูตัวพากษ์ที่ซ้อนอยู่เรื่อยไปใช่มั้ยครับ
2. เมื่อดูตัวพากษ์ที่ซ้อนกันเรื่อยไป จิตจะไม่มีอารมณ์ (แบบโลก ๆ) ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเห็นไม่ทันหรือไม่ต่อเนื่อง ก็จะเริ่มมีอารมณ์ (แบบโลก ๆ) ไม่ว่าจะเป็นการอึดอัด โกรธ หงุดหงิด รำคาญ สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ฯลฯ กราบขอบพระคุณหลวงตาอย่างสูงครับ ตัวอย่างเช่น กำลังจะแซงรถข้างหน้า มองกระจกข้าง เห็นรถทางขวากำลังแล่นมา มีเสียงพากษ์ว่า "เร็ว ๆ" จะไม่มีความอึดอัด แล้วก็รู้ตัวพากษ์อื่นต่อ แต่ถ้าเห็นไม่ทัน จะรู้สึกอึดอัด มารู้ตอนพากษ์อีกครั้งว่า "อึดอัด" แล้วรู้ตัวพากษ์อื่นต่อใช่ไหมครับ และกรณีหลังถือว่าเป็นการจับปล่อย จับปล่อยอย่างที่หลวงตาเทศน์สอนแล้วใช่ไหมครับ
หลวงตา : อาการอึดอัดหรืออารมณ์อึดอัดเป็นทุกขเวทนา เกิดจากหลงยึดถือขันธ์ห้าเป็นตัวเรา แล้วเอาตัวเรานั้นไปหลงปรุงแต่งเพ่งหรือสะกดจิตให้นิ่งไว้ เมื่อมีสติมารู้เท่าทันตัวเราซึ่งเป็นตัวสมมติ คือ หลงเอาจิตหรือวิญญาณขันธ์หรือผู้รู้เป็นตัวเรา ซึ่งเมื่อจิตหรือวิญญาณขันธ์รู้ตามทวารแล้วก็จะส่งต่อเวทนา จิตหรือวิญญาณเก่าดับไป เกิดจิตหรือวิญญาณใหม่มารับรู้เวทนา เวทนาและจิตหรือวิญญาณเก่าดับไป ส่งต่อสัญญา เกิดจิตหรือวิญญาณใหม่มารู้สัญญา แล้วสัญญาและจิตหรือวิญญาณนั้นดับไป ส่งต่อสังขาร คือคิดปรุงหรือปรุงคิด แล้วจิตหรือวิญญาณเก่าพร้อมสัญญาดับไป เกิดจิตหรือวิญญาณใหม่มารู้ความคิดปรุงหรือปรุงคิด แล้วจิตหรือวิญญาณนั้นดับไป เกิดจิตหรือวิญญาณใหม่ มารู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ แล้วส่งต่อเวทนา สัญญา สังขาร ต่อเนื่องกันไปอย่างนี้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของขันธ์ห้าหรือชีวิต ดังนั้น มีแต่ขันธ์ห้า หรือสังขาร เกิดดับตลอดเวลา ส่วนร่างกายก็มีกระบวนการทำงานของเซลล์หรือโมเลกุล ทำงานส่งต่อเนื่องกันตลอดเวลา ทำให้เกิดการไหลเวียนของสารอาหาร แร่ธาตุ และเลือดลม ดังนั้น ร่างกายและจิตหรือวิญญาณ จึงเป็นของไม่เที่ยง เกิดดับ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีส่วนใดที่คงที่เป็นสาระแก่นสารอยู่เลยสักปรมาณูเดียว จึงไม่มีตัวเราที่เป็นแก่นหรือก้อนที่เที่ยงอยู่จริง ๆ เลย แต่ก็ยังหลงยึดถือเอาขันธ์ห้าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา หรือมีตัวตนของเราอยู่ในขันธ์ห้า ดังนั้น เวลาจิตหรือวิญญาณขันธ์ทำหน้าที่รู้ แล้วส่งต่อเวทนา สัญญา สังขาร อีกสามขันธ์ จึงมีความรู้สึกหลงไปว่า เราเป็นคนรู้ เราสุข เราทุกข์ เราเป็นกลาง ๆ เราจำได้หมายรู้ เราคิด
ครั้นเมื่อฝึกปล่อยวางทั้งสิ่งที่ถูกรู้และปล่อยวางจิตหรือวิญญาณขันธ์ซึ่งเป็นผู้รู้ตลอดเวลา จึงเท่ากับปล่อยวางขันธ์ห้าจนถึงจิตหรือวิญญาณขันธ์ หรือสิ้นอุปาทานขันธ์ห้า ก็จะไม่หลงรู้สึกว่าเราหรือตัวเราเป็นผู้รู้ เราหรือตัวเราเป็นผู้โปร่ง เบา สบาย ว่าง เราหรือตัวเราจำได้หมายรู้ เราหรือตัวเราคิด คงมีแต่อารมณ์หรืออาการที่ถูกรู้ และการรับรู้ตามทวารทั้งหกตามปกติธรรมชาติ โดยไม่หลงว่ามีตัวเราในขันธ์ห้า หรือไม่หลงยึดถือเอาขันธ์เป็นตัวเรา และจะไม่หลงเอาขันธ์ไปยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่หลงยึดถือว่าเราหรือตัวเราเป็นผู้มีอาการหรือมีอารมณ์ คือเป็นผู้สุข ทุกข์ เป็นกลาง ๆ ผู้จำได้หมายรู้ ผู้คิด ผู้รู้ ผู้ว่าง เมื่อสิ้นหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หรือมีตัวเราอยู่ในขันธ์ห้า ก็ไม่มีตัวเราผู้ทุกข์ หรือเรียกว่าพ้นทุกข์
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560