ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ ขออนุญาตแทนตัวเองว่าลูกนะเจ้าคะ ... จากที่ลูกได้รับความเมตตาจากหลวงตาให้แนวทางปฏิบัติในการควบคุมจิตโดยการบริกรรมพุทโธ แล้วลูกรู้สึกจุกที่หน้าอกขึ้นมาถึงลำคอทั้งวัน ต่อมาหลวงตาแนะนำให้บริกรรมพุทโธอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนอาการจุกหน้าอกของลูกหายไป หลังจากลูกกลับมาที่บ้านลูกจับความรู้สึกได้ว่าทุกครั้งที่ลูกต้องการฟังธรรมหรือบริกรรมพุทโธพร้อมทำกิจกรรมเป็นปกติ ลูกก็จะมีอาการจุกหน้าอกขึ้นมาทุกครั้ง ลูกก็ตามดูไปมันก็มีอาการของมันไปอย่างนั้นแผ่วบ้างหนักบ้าง แต่เวลาที่ลูกเผลอคิดเรื่อยเปื่อยจะไม่มีอาการจุกแต่กลับรู้สึกโล่งสบายดีในขณะที่เราหลงส่งจิตออกนอกเจ้าค่ะ ... ลูกควรจะทำอย่างไรดีคะ ตอนนี้ลูกก็จะฟังธรรมหลวงตาเป็นระยะไป มันจะจุกก็ปล่อยมัน (นึกถึงคำหลวงตาค่ะ ไม่มีใครตายเพราะปฏิบัติธรรม)
หลวงตา : อย่าปล่อยให้สติขาดหลงคิดเรื่อยเปื่อย ให้มีสติรู้สึกตัวไว้กับคำบริกรรมพุทโธ มันจะมีอาการแน่นจุกบ้าง ซึ่งเป็นอารมณ์หรืออาการทุกขเวทนา มีอาการเบาสบายบ้าง ซึ่งเป็นอารมณ์หรืออาการสุขเวทนา มีอาการไม่ถึงกับจุกแน่นบ้าง ไม่ถึงกับเบาสบายบ้าง ซึ่งเป็นอทุกขมสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ก็ไม่ให้สนใจให้ค่า ให้ความสำคัญ ยึดถือเวทนาเหล่านั้น วิธีที่จะไม่เข้าไปยึดถือเวทนา จะต้องรู้ที่จิตหรือวิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็น "ผู้รู้" เวทนา จะทั้งรู้ ทั้งคิด ตรึกตรอง วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย เหมือนพากษ์หรือพูดอยู่คนเดียวตลอดเวลา จะดับเขาก็ไม่ได้ เพราะเป็นกระบวนการทำงานของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นชีวิต คือ จิตหรือวิญญาณขันธ์ จะทำหน้าที่รู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) เมื่อจิตหรือวิญญาณเกิดมารู้แล้วจะดับไปเร็วมาก เกิดเวทนา แล้วเกิดจิตหรือวิญญาณตัวใหม่มารู้เวทนา แล้วดับไปเร็วมาก เกิดสัญญา (ความจำได้หมายรู้) แล้วเกิดจิตหรือวิญญาณมารู้สัญญา แล้วดับไปเร็วมาก เกิดสังขาร (คิดปรุงหรือปรุงคิด) แล้วเกิดจิตหรือวิญญาณมารู้สังขารแล้วดับไปเร็วมาก แล้วเกิดจิตหรือวิญญาณตัวใหม่มารู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์อันใหม่ แล้วดับไปเร็วมาก แล้วเกิดเวทนา สัญญา สังขาร ตัวใหม่ และเกิดจิตหรือวิญญาณขันธ์ตัวใหม่มารู้เวทนา สัญญา สังขาร แล้วดับไปเร็วมาก แล้วเกิดกระบวนทำงานของขันธ์ทั้งห้าอย่างเดิมนั้นหมุนวนไปตลอดเวลาไม่มีเวลาหยุดพัก จนกว่าจะตาย กระบวนการทำงานของขันธ์ห้าจึงดับสนิท แต่เพราะยึดถือเอาขันธ์ห้าเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา หรือ มีตัวเราอยู่ในขันธ์ห้า จึงสร้างตัวตนของเราซ้อนอยู่ในขันธ์ห้า ดังนั้น เมื่อขันธ์ห้าดับ แต่การปรุงแต่งยึดถือขันธ์ห้าไม่ดับ ความรู้สึกหลงว่ามีตัวเราเป็นตัวเป็นตนจึงไม่ดับไปจากใจ จึงมีตัวตน และความทุกข์ สุข เหลืออยู่ ซึ่งคนอื่นจะมองไม่เห็นตัวเรา แต่พวกมาเอาวิญญาณไปจะมองเห็นและมาพาไปพิพากษาลงโทษตามกรรมได้ ดังนั้น ขันธ์ห้าตายแตกดับแล้ว แต่ตัวตนและความทุกข์ สุข ยังไม่จบสิ้น
ถ้าปล่อยวางความหลงยึดถือขันธ์หรือกระบวนการทำงานของขันธ์ห้าว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นตัวตนของเรา หรือมีตัวเราอยู่ในขันธ์ห้า ใจก็จะว่างเปล่าจากความรู้สึกว่าเรามีตัวตน หรือมีตัวตนของเรา และจะไม่มีตัวตนของเราไปยึดถือสิ่งใดให้เป็นกิเลสและความทุกข์ ครั้นเมื่อขันธ์ห้าตายแตกดับ ใจก็เป็นเพียงความว่างเปล่า ไม่หลงเหลือตัวเราให้ไปเวียนว่ายตายเกิด และรับกรรมอีกต่อไป
ดังนั้น ทุกขณะที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ปล่อยวางทั้งอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ และให้ปล่อยวางทั้งจิตหรือวิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นผู้รู้ ไม่หลงว่ามีตัวเราเป็นผู้รู้ และไม่หลงยึดถือเอามาเป็นของเราเมื่อเกิดความถูกใจ หรือ ไม่หลงยึดถือดิ้นรนผลักไสเมื่อเกิดความไม่ถูกใจ เพียงแค่สักแต่ว่ารู้ หรือ รู้ซื่อ ๆ ก็จะสิ้นกิเลส และความทุกข์ ทั้งปัจจุบัน จะไม่มีตัวเราซ้อนอยู่ในขันธ์ห้า และเมื่อขันธ์ห้าตายแตกดับแล้ว ก็จะไม่มีตัวเราเหลืออยู่ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดและต้องรับกรรมอีกต่อไป
ถ้าเราอยู่กับสักแต่ว่ารู้ หรือรู้ซื่อ ๆ ไม่เป็น ก็ให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ แล้วสักแต่ว่ารู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา จนกว่าจะสักแต่ว่ารู้หรือรู้ซื่อๆ คือปล่อยวางทั้งอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ และปล่อยวางทั้งผู้รู้ ตลอดเวลา ก็ไม่ต้องพึ่งคำบริกรรมพุทโธอีกต่อไป
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560