ผู้ถาม : นมัสการพระอาจารย์ โยมขอความเมตตาอนุญาตช่วยขยายธรรมการปฏิบัติค่ะ ปุจฉาข้อที่หนึ่ง วิธีเจริญวิปัสสนาดูจิต เราควรจะรู้สภาวธรรมหรือจะรู้อะไรถึงจะถูกคะ
หลวงตา : วิสัชนา รู้ใจตนเอง และปล่อยวางทั้งหมด ทุกขณะปัจจุบัน
ผู้ถาม : ปุจฉาข้อที่สอง พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมพิจารณาอย่างไรถึงจะควบคุมจิตได้คะ
หลวงตา : วิสัชนา รู้กายเวทนาจิตธรรม ก็เอาเข้ามาปรุงแต่งในใจทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าสติตั้งที่ใจ ดูที่ใจ รู้ที่ใจ สังเกตที่ใจ ละที่ใจ ปล่อยวางที่ใจ อยู่ตลอดเวลา ทุกขณะจิตปัจจุบัน นั่นแหละคือการปล่อยวางกาย เวทนา จิต ธรรมทั้งหมด กาย เวทนา จิต ธรรม ก็คือ ร่างกายจิตใจ หรือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า "ขันธ์ห้า" รู้เพื่อให้ปล่อยวาง หรือละอุปาทานขันธ์ห้า
ผู้ถาม : ปุจฉาข้อที่สาม รู้ลมหายใจเข้าออกแต่จิตไม่มีกำลัง เราจะทำจิตอย่างไรจิตถึงจะมีกำลัง .... จบที่ใจแต่ไม่จบซะที
หลวงตา : วิสัชนา ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่องอย่าให้สติขาด จิตก็จะเกิดกำลังของสมาธิเอง เมื่อจิตเกิดสมาธิแล้ว ให้มีปัญญาเห็นว่าร่างกายจิตใจเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ผู้ถาม : ปุจฉาข้อที่สี่ อารมณ์ถูกรู้ให้ตั้งสติที่ใจ อยู่ที่ใจ รู้ที่ใจ สังเกตที่ใจ ละที่ใจ ปล่อยวางที่ใจ เรารู้แล้วต้องละ จะละได้อย่างไร เวลาพบพระมาบิณฑบาตพอได้นิมนต์และได้ใส่บาตรก็เกิดปีติ อันนี้เรียกว่ารู้ด้วยจิตหรือรู้ด้วยใจคะ แล้วรู้แล้วต้องละไหมคะ โยมขอความเมตตาพระอาจารย์ให้โยมได้รู้ได้เกิดปัญญาด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : วิสัชนา จิตเค้าอิ่มในบุญที่ได้ใส่บาตร จึงเกิดอารมณ์ปีติ ซึ่งเป็นสุขเวทนา ใจเป็นของปรุงแต่งไม่ได้ ได้แต่รู้ซื่อซื่ออย่างตรงไปตรงมาทุกอาการปัจจุบัน รู้ซื่อซื่อนั่นแหละคือมีสติปัญญา
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560