ผู้ถาม : ขอโอกาสเรียนถามหลวงตาว่า ผู้ที่มีกายอันเป็นทิพย์ละเอียด จิตอยู่กับความใสของธาตุบริสุทธิ์ จนไม่กระเพื่อมเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น จะพิจารณาธรรมอย่างไร จึงจะเห็นวิปัสสนา เพื่อพ้นจากทุกข์ได้ครับ
หลวงตา : มีสติ ปัญญาสังเกตเห็นว่า แม้กายทิพย์ จิตทิพย์ ความรู้ทิพย์ ผู้รู้ทิพย์
จะมีความละเอียดเพียงใด ก็ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่น ถ้าสังเกตให้ดี ๆ จะเห็นความที่ผ่องใสนั้น มีความเศร้าหมองนิด ๆ ได้ และ ยังมีความทุกข์น้อยหนึ่ง นิดหนึ่งกับการที่ต้องสงวนรักษา
และ มีสติ ปัญญา สังเกตเห็นว่า
แม้จะมีความสงบเพียงใด ก็มีความเคลื่อนไหว
ในความว่าง มีความปรากฏในจิตหรือในผู้รู้
ในท่ามกลางสังขาร มี วิสังขาร หรือ
ในอัตตา มี อนัตตา
มีสติ ปัญญาเห็นตามความเป็นจริงว่า สังขารทุกปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะถูกใจ ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นสุข หรือ ไม่ถูกใจ ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ ล้วนไม่เที่ยง หากหลงยึดถือ ย่อมเป็นทุกข์ หากไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ ก็พ้นทุกข์
จึง
ไม่มีตัวตนหรือผู้ยึดถือทั้งความเคลื่อนไหว และ ความสงบ
ทั้งความปรากฏ และ ความว่าง
ทั้งสังขาร และ วิสังขาร
ทั้งอัตตา และ อนัตตา
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา”
ธรรมทั้งปวง ทั้งสังขาร และ มิใช่สังขาร (วิสังขาร) ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่เรา ตัวเรา ของเรา อย่าหลงยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา
หรือ
สิ้นความยินดี และ ยินร้าย
*****ใจจึงว่างเปล่า
ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาในใจ
หรือ มีแต่ชื่อว่าจิตหรือใจ แต่ไม่มีตัวจิต ตัวใจ
นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ หรือ
ความสุข ความทุกข์ประจำขันธ์ ซึ่งเป็นทุกขสัจจ์ มีอยู่ แต่เข้าไม่ถึง
หรือไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ
หรือ ผู้เสวยให้เป็นทุกข์
*****ไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ แม้ความไม่ยึดถือ
ไม่มีตัวตนยึดถือใจว่าง หรือ นิพพาน
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561