ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ หลวงตาคะ โยมมีคำถามค่ะ จากข้อความธรรมทางไลน์กลุ่มที่ว่า
“ ...ถ้าสังเกตเห็นด้วยใจ ไม่ชัดเจน ว่า สังขาร ซึ่งเป็นความคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่ง เกิดดับ ในใจ ที่เป็น “วิสังขาร” แล้วเป็น “ใจ” นั้น ที่รู้แก่ใจว่า มันเองคือความไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรปรากฏเลย ที่ปรากฏได้ทั้งหมด ไม่ใช่ “มัน” ก็จะหลงเอาจิตปรุงแต่งไปจับอารมณ์(เวทนา) ที่โปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่างๆ มีผลทำให้ไม่เห็นสังขาร เกิดดับ ในใจที่ไม่สังขาร...”
คำถามคือ ถ้ามีรู้ที่รู้อาการโล่ง โปร่ง เบา ว่าง สลับกับการรู้การคิดนึก ปรุงแต่งทางใจ หรือ การกระทบอารมณ์ทางทวารอื่น หรือเห็นสังขารต่างๆ เกิดดับสลับกับรู้เห็นอาการโล่ง โปร่ง เบา ว่าง ซึ่งทำให้ปัญญารู้ชัดถึงความต่างของสังขารคิดปรุง ปรุงคิด กับ อาการโล่งโปร่งเบา แยกกันชัดเจนเท่านั้น
เพราะจิตที่รู้อาการโล่งโปร่งเบาก็ไม่เที่ยง แว๊บเดียวก็เปลี่ยนไปรู้สังขารอื่นแล้ว ต่างก็เกิดดับ
อยู่ในใจที่แค่รู้ อย่างนี้รู้ถูกไหมคะ คือ เพียงอาศัยเวทนาโล่งเบาว่างเป็นเพียงวิหารธรรม เพื่อเห็นสังขารอื่นๆ เกิดดับ ขณะเดียวกันเมื่อมีอาการโล่ง เบาว่างปรากฏสลับให้รู้ก็แค่รู้ทัน อาการก็จะดับไป พร้อมรู้นั้น ขอหลวงตาเมตตาแนะนำโยมด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
หลวงตา : การที่ขาดสติ แล้วหลงคิดปรุงแต่งเพลินใจติดไปกับสิ่งต่างๆ เมื่อมีสติรู้เท่าทัน แล้วมาจับยึดความรู้สึกว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ เป็นธรรมารมณ์ เป็นอายตนะภายนอก และเป็น “สังขาร” ไว้ แล้วสติก็ขาดอีก มีสติรู้เท่าทัน แล้วมาจับยึดความรู้สึกว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบายอีก อย่างนี้เรื่อยไป เป็นการปฏิบัติผิด เพราะมีตัวตนของเรายืนพื้นไว้ในความรู้สึกที่ปรุงแต่งไว้ตลอดเวลา มันเป็น “อวิชชา” และหลงมีตัวตนของเรายึดถืออาการของเวทนาด้วย
ส่วนที่ยึดถือเอาอาการโล่ง โปร่ง เบา สบาย และว่าง เป็นวิหารธรรมเพื่อดูสังขารที่เปลี่ยนแปลง เกิดดับๆ นั้น ก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะอาการที่โล่ง โปร่ง เบา สบาย ว่างนั้นเป็นสังขารอย่างหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นจึงยังเป็นการหลงวนเวียนอยู่ในสังขารนั่นเอง คือหลงยึดถือเอาสังขาร ปรุงแต่งเป็นตัวเรา อยู่ในความรู้สึกว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย แล้วเอาตัวเราที่ปรุงแต่งนั้น ไปดูสังขารต่างๆ ที่เกิดดับๆ เปลี่ยนแปลง โดยปฏิเสธสังขารอื่นๆทั้งหมด แต่ยึดถือสังขารที่ปรุงแต่งเป็นตัวเราและ ยึดถือ ความรู้สึกว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย ไว้ อย่างนี้ มันเป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นกิเลส เป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ..และความทุกข์ทั้งมวล
อีกกรณีหนึ่ง
หลงยึดถือขันธ์ห้า ซึ่งเป็นสังขาร มาปรุงแต่งเป็นตัวตนของเรายืนพื้นไว้ในใจ แล้วเอาตัวเราไปเพ่งดูสังขารเกิดดับในความว่าง หรือไปเพ่งดูสังขารเกิดดับในใจที่หลงปรุงแต่งสร้างเป็นใจว่างไว้ แล้วหมายยึดถือเอาใจว่างเปล่าที่ปรุงแต่งไว้ แล้วปฏิเสธสังขารอื่นนอกจากนี้ทั้งหมด อย่างนี้ ก็เป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นกิเลส เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน ภพ ชาติ ...และความทุกข์ทั้งมวล
ความจริงนั้น “ธาตุรู้” หรือ “วิสังขาร” คือความไม่มีอะไร ไม่มีรูปร่าง ไม่มีอะไรปรากฏ มีคุณสมบัติเหมือนความว่างเปล่าในธรรมชาติทุกประการ แต่มีข้อแตกต่างจากความว่างในธรรมชาติคือ “ธาตุรู้” มีหน้าที่รู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นว่า …ทุกสิ่ง ทุกอาการ ทุกความคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ กระดุกกระดิกได้ เคลื่อนไหวได้นั้น เกิดดับได้ ไม่ใช่มัน
ดังนั้นที่โยมบอกว่าความว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบายที่เอามาเป็นวิหารธรรมนั้นไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ เกิด ดับได้ จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ามันก็คือ สังขาร ไม่ใช่ ธาตุรู้
การจะพ้นทุกข์ พ้นจากสังขาร พ้นจากความยึดถือสังขารได้ คือต้องเห็นว่า สังขารทั้งหมด ที่ปรุงแต่งให้มีการเกิดขึ้นมาจากความไม่มีอย่างนั้นตั้งแต่แรก แล้วมีขึ้นมา สิ่งทั้งหมดนั้น ย่อมดับไปสู่ความไม่มี รวมทั้งขันธ์ห้า หรือ ร่างกาย และจิตปรุงแต่งทุกอาการปัจจุบันขณะ เช่น ความคิด นึก ตรึกตรอง ปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมาเป็น “สังขารปรุงแต่ง” ที่ล้วนเกิดเองตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วดับเองเมื่อสิ้นเหตุปัจจัย มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือ ของเรา
และสังขารปรุงแต่งเหล่านี้ก็เกิดดับอยู่ใน “วิสังขาร” ที่ไม่ปรากฏพฤติแห่งจิต หรือไม่ปรากฏปฏิกิริยาหรืออาการอะไรเลย ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีความปรุงแต่งใดเลย มันเป็นธรรมชาติที่มีความรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยขันธ์ห้า หรือไม่ต้องอาศัยเราหรือใครไปคอยบอกหรือคอยจัดการให้ และ ที่สำคัญ มันไม่ใช่ความว่าง ที่เป็นสังขาร เช่น ความว่างที่เกิดจากการปรุงแต่งให้ว่างเวิ้งว้างไพศาลเหมือนดังอวกาศ ความว่างในอรูปฌาน ความว่างที่เป็นความสบายใจ ความว่างที่สร้างไว้ในใจหรือสร้างใจให้ว่างเป็นลักษณะเหมือนใจเป็นห้องว่าง
หมายเหตุ ความว่างตามธรรมชาติที่แท้จริง ต้องเป็นความว่างที่ปราศจากการปรุงแต่ง ปราศจากตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น ปราศจากความมีตัวเราเข้าไปยึดถือไปประคองรักษาไว้หรือพยายามจับความรู้สึกว่างนั้นไว้ที่เรียกว่าเอาความว่างเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ เพราะความปรุงแต่งมันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เกิดดับได้
เพียรสังเกตให้รู้เห็นธรรมชาติของความเป็นจริงว่า มีแต่สังขารเกิดดับตลอดเวลา หรือ เกิดเอง ดับเอง เกิดเอง ดับเอง ...ๆๆๆๆ......โดยรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีตัวเราเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ผู้ปล่อยวาง ไม่มีตัวเราเป็นผู้เสวย หรือ ผู้ยึดถือ
ความรู้แก่ใจนี้เป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เราเป็นผู้รู้ หรือผู้รู้เป็นตัวเรา เพราะความเป็นตัวตนของเราไม่มีมาตั้งแต่แรก ความรู้ตามปกติธรรมชาติ นี้ จะรู้อย่างตรงไปตรงมา ซื่อๆ หรือ สักแต่ว่ารู้ เพราะเขาเป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ หรืออสังขตธรรม ซึ่งไม่มีตัวตน ไม่อาจปรุงแต่งได้ เขาจึงได้แต่แค่สักแต่ว่ารู้ ไม่อาจดัดแปลง แก้ไข อยากให้เป็นไปอย่างไรได้ เช่น หิว ธรรมชาติรู้ ก็ได้แต่รู้ว่าหิว เขาจะช่วยให้อิ่มไม่ได้ แต่เมื่อรู้ว่าหิว ขันธ์ห้าก็ต้อไปหาอาหารมากิน ไม่สบายกายไม่สบายใจ ธรรมชาติของธาตุรู้ หรือ ใจ เขาก็ได้แต่แค่สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าไม่สบาย แต่เขาช่วยให้สบายกาย สบายใจ หรือหายป่วยไม่ได้ ขันธ์ห้าต้องพาตัวเองไปรักษา
ธาตุรู้ตามธรรมชาติหรือใจ จะไม่ปรากฏตัวตนของผู้รู้เลย จะปรากฏแต่สิ่งที่ถูกรู้ หรืออารมณ์ที่ถูกรู้ เมื่อ ผู้รู้ เป็นธรรมชาติที่มีความรู้ของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีตัวตนของผู้รู้ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีปรากฏการณ์หรืออาการปรากฏ จึงไม่มีอาการเกิดดับ ผู้รู้ไม่ใช่ตัวเรา หรือตัวเราไม่ใช่ผู้รู้ ดังนั้น จึงมีแต่ธรรมชาติของสังขารเกิดดับ ในความไม่มีอะไรปรากฏ ซึ่งเป็นธาตุรู้หรือใจ
เมื่อสังเกตจนรู้เห็นด้วยใจ หรือ รู้เห็นด้วยตาใจ หรือตาในจนถึงใจแล้วว่า สังขาร เกิดดับ ในความไม่มีอะไรปรากฏ และรู้แก่ใจว่า ถ้าหลงไปเป็นสังขาร คือ หลงไปเป็นผู้มีความรู้สึก นึก คิด ตรึกตรอง ปรุงแต่ง หรือหลงยึดถือเอาอาการหรืออารมณ์ที่ถูกรู้ ซึ่งเกิดดับ เปลี่ยนแปลงได้ มาเป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา ก็จะทำให้เป็นทุกข์ กับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ใจก็จะยอมปล่อยวางสังขารทั้งหมด คือ ไม่หลงไปเป็นสังขาร หรือ ไม่หลงยึดถือเอาสังขารมาเป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเราอีกต่อไป
ก็จะเป็น “ใจ” ที่ไม่สังขารโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นธาตุรู้ มีความรู้โดยธรรมชาติของเขาเองว่า เขาคือสิ่งที่ไม่ปรากฏอะไรเลย ส่วนที่ปรากฏอะไรทั้งหมด ไม่ใช่เขา
“พบใจ พบธรรม
ถึงใจ (เป็นใจ) ถึงนิพพาน”
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561