ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ หนูรู้สึกว่าการเข้าไปแก้ปัญหากับทางโลกมันวุ่นวาย เหนื่อยมากเลยเจ้าค่ะ ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาเป็นเพราะหนูกระโดดเข้าไปเป็นมัน และติดแช่ รึเปล่าเจ้าคะ
แต่พอกลับมาอยู่คนเดียวเดินจงกลมพิจารณาปล่อยวางสักพัก ก็รู้สึกว่ามันเงียบ สงบ สงัด ตื่นเช้ามาทุกอย่างรอบๆตัวก็ยังเงียบ สงบ สงัด เหมือนเดิม แต่ก็พิจารณาว่าความเงียบ สงบก็เป็นธรรมชาติของมัน
ไม่ได้เป็นของหนู หนูไม่ได้เป็นมัน แต่ก็แอบคิดสงสัยว่ามีเราไปแอบพอใจ ชอบใจในความเงียบ สงบนั่นรึเปล่า แล้วจิตมันก็รู้ว่าตัวที่สงสัย หรือตัวที่ชอบใจ ดีใจก็เป็นสังขารเหมือนกัน กราบขอความเมตตาหลวงตาชี้แนะเจ้าค่ะ
บางทีก็รู้สึกว่าควรพุทโธ ๆๆ พิจารณาทวนเข้าหาผู้รู้ไหม เพราะเกิดความไม่มั่นใจว่า … เอ ... เราเคยพบผู้รู้รึยังหว่า (โดนสังขารหลอกอีกแน่เลย) หรือเราควรจะพิจารณาว่ายังมี อะไรยึดอยู่ไหม หรือควรจะพิจารณาตัวต้นจิตที่คิด นึก ตรึกตรอง วิเคราะห์ เข้าใจ
แล้วปล่อยวางตรงนั้น เหมือน basic มันยังไม่แน่น ควรกลับไปทบทวน basic ให้แน่นก่อน มันเป็นความไม่แน่ใจ งง ๆ สับสน จนบอกไม่ถูกค่ะ อีกใจก็รู้ว่าความคิด ความรู้สึกแบบนี้ เป็นสังขาร
ถ้าไปจริงจังกับมันแสดงว่ามีตัวเราที่ยังไม่สิ้นตัวตนเลยตะเกียกตะกายอยากทำโน่น ทำนี่ เพื่อ ให้ "ตัวเรา" พ้นทุกข์ อยากนิพพาน
สรุปว่าอาการทั้งหลายแหล่นี่เป็นสังขารทั้งนั้นเลย ต้องปล่อยวางทุกขณะจิต มีอะไรขึ้นมาก็วางๆๆๆๆไป ไม่ต้องหาวิธีการที่แน่นอน ไม่ต้องหาแนวทาง ไม่ต้องหาทางออก ไม่ต้องหาคำตอบ
เพราะมันไม่มี ก็ถ้าเรารู้ทันสังขาร ก็ไม่มีตัวเราหลงเข้าไปเล่นกับมันจนเป็นอวิชชา แค่นั้นเอง....
ถึงตอนนี้ก็รู้ เข้าใจว่าความลังเล สงสัยนี่เป็นตัวดีเลยที่ทำให้หมุนวนอยู่ในโอ่ง ต้องช่างมัน เจ้าค่ะ กราบขมาที่รบกวนธาตุขันธ์หลวงตาเจ้าค่ะ
หลวงตา : “ธรรม หรือ ธรรมชาติแท้ ๆ” มีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (สังขาร) เกิดขึ้นมาจากความไม่มีอะไร (วิสังขาร) แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีตัวตนของเรา หรือตัวเราเป็นส่วนเกินธรรมชาติเลย
ส่วนที่มีความรู้สึกว่า มีตัวตนของเราในธรรมชาตินั่น เป็นแต่เพียงความโง่ หลงเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) หลงปรุงแต่งหลงยึดถือขึ้นมาเอง (อวิชชา)
ธรรม หรือ ธรรมชาติแท้ๆ ก่อนนี้ก็เป็นมาอย่างนี้ ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นเช่นนี้ เรียกว่าเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีใครหรือไม่มีตัวเราเป็นเจ้าของธรรมชาติ หรือ ธรรมชาติไม่ได้เป็นตัวตนของเรา
เพียรสอนให้จิตใจเข้าถึงความจริงของธรรม หรือ ธรรมชาติ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ด้วยวิธีหรือแง่มุมอย่างไรก็ได้ จนจิตใจเขารู้แจ้งถึงความจริงด้วยใจ เขาก็สิ้นความหลงว่ามีตัวตน มีเรา ตัวเรา หรือ ของเรา
เมื่อสิ้นตัวตน หรือ สิ้นตัวเราในความรู้สึก ก็สิ้นผู้เสวยหรือสิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น สิ้นกิเลส
พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561