ผู้ถาม : กราบนมัสการครับองค์หลวงตา เมื่อหลงส่งจิตออกนอกแสดงว่าขาดสติสัมปชัญญะ ทำให้เกิด "นันทิ" บางครั้งรู้ตัวว่าเพลินอยู่กับอะไร มีสติ แต่ขาด “สัมปชัญญะ " คือเผลอตัวหลงไปอยู่กับความเพลินนั้น เมื่อขาดสัมปชัญญะ นานเข้าก็จะก่อให้เกิด "ตัณหา" (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) เป็นเหตุที่ทำให้ทุกข์ เมื่อทุกข์แล้ว แล้วยังขาดความรู้สึกตัวต่อ คือขาด "สัมปชัญญะ" ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติยังหลงเข้าใจว่าตัวเอง "ยังมีสติอยู่" คือรู้ตัวว่าเรา "ทุกข์" จึงพยายามกระทำอะไรให้เป็นอะไร อาจคิด นึกตรึกตรองว่า จะทำอย่างไรถึงจะออกจากทุกข์นี้ได้ หรือไม่ก็พยายามกดข่มอาการเหล่านั่น ซึ่งทำให้ "ทุกข์" อีก
ผู้ปฏิบัติขาดสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวว่าหลงสังขารแล้ว ในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติก็ยังหลงเข้าใจว่าตัวเองมีสติอยู่ คือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น รู้ว่ากำลังคิดอยู่ ใคร่ครวญหาเหตุผลอยู่ หรือ มีสติรู้ว่าควรสะกดอาการนั้น แล้วหลงไปกระทำจริง ๆ ทำให้ตกเป็นทาสอวิชชา ดังนั้น การจะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัย สัมมาสติ คือสติที่ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะ เป็นเรื่องเข้าใจยาก ทุกคนมักจะบอกว่า รู้ ฉันรู้ว่าฉันกำลังทำอะไร ทำไมฉันจะไม่รู้ คือเข้าใจว่าตัวเรามีสติ แต่ขาดสัมปชัญญะ คือความเผลอตัวว่ามีเรา "หลงไปสังขารแล้ว" ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจตรงจุดนี้การเจริญสติปัฏฐาน 4 เพื่อให้เกิดปัญญา นั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย
หลวงตา : เข้าใจถูกต้อง แต่ยังหลงไปเป็นสังขารความรู้ความเข้าใจ ก็แสดงว่ายังไม่มีสติสัมปชัญญะ เพราะมีสติสัมปชัญญะคือ รู้เท่าทันการหลงไปเป็นสังขาร แม้กระทั่งสังขารที่เป็นความรู้ความเข้าใจ
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561