ผู้ถาม : เมื่อคืนปฏิบัติมันไม่ไปยังไงเลยเจ้าค่ะ จะทำความสงบ เพื่อมาพิจารณากาย มันไม่มีความสงบเลย มีแต่จับสภาวะ ง่วงทึบมึนไปหมด คิดน้อมพิจารณาอะไรไม่ได้สักอย่าง สุดท้ายเลยต้องยอมเลิก นอน ฝันฟุ้งซ่านสารพัดเลยเจ้าค่ะตื่นมา มันทุกข์มาก ทุกข์มากจริง ๆ ก็พยายามทำยังไงก็ได้ ให้มันพ้นทุกข์ ซึ่งมันก็ทุกข์กว่าเดิมอีก พิจารณาอะไรไม่ได้เลย เพราะมันฟุ้งไปในเรื่องที่ตัวเราเป็นทุกข์ จะทำยังไงปฏิบัติยังไง ตลอดเลยเจ้าค่ะ
สุดท้ายมันก็ต้องยอมที่จะอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย จึงเห็นความคิดเรื่องทุกข์ มันเกิดขึ้นมาเอง และความคิดวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นเองเหมือนกัน ก็เลย เอ๊ะ มันเกิดขึ้นเองนี่หว่า เราไม่ทำอะไรอีก เอ๊ะ มันเกิดอีก วิจารณ์อีก พอสังเกตความเกิดเองดับเองไปเรื่อย ๆ จึงเห็นที่มาของทุกความคิด มันมี "บางอย่าง" อยู่ภายใต้ความคิดนั้น มีตัวเราซ่อนอยู่เสมอ ถึงเราจะไม่ได้ตั้งใจคิด แต่มันมี "ตัวเรา" คิดความทุกข์ขึ้นมาเอง
และ ตัวเรานี้แหละ เป็นต้นเหตุของทุกความคิดที่ขึ้นมาเลย สักพักมันสงบจากความคิด และมีสติรู้กาย รู้รสของอาหารที่กิน มันสังเกต เห็น "ตัวเรา" ใน "รู้" อีก เพราะตัวเรามีตัณหา มันจึงผลักดันให้ไป "รู้" ในสิ่งที่มัน "อยาก" อยู่เบื้องหลัง และก็ทำตาม ๆ มันไปโดยที่ไม่รู้เลย เป็นปฏิจจสมุปบาทสายเกิด อยู่ตลอดเวลาเลยเจ้าค่ะ
แต่ถ้าสังเกตเห็น ที่เกิดของมัน สังขารทั้งหมด มันจะดับหมดทั้งสาย เลยเกิดความเห็นความเข้าใจว่า อวิชชา มันนอนเนื่องจริง ๆ ถึงเราไม่ทำอะไร มันก็พร้อมจะปรุงออกมาเป็นสังขารอยู่แล้ว ซ่อนอยู่ในทุกคิดเลย เป็นอาสวะ อนุสัย คือนิสัยที่มันติดตัวมาแบบนี้ การที่เรามีสติ เห็นการเกิดดับของกลไก เบื้องต้น คือเป็นเขื่อนกั้น ไม่ให้อนุสัยเดิม ๆ มันพอกพูน และสร้างอนุสัยใหม่ คือ ความเคยชินในการรู้เท่าทัน ทุกข์และสมุหทัย ซึ่งเป็นพื้นให้ใจมันสงบเพียงพอที่จะรู้ความจริง ในส่วนของ ไตรลักษณ์ นั่นเอง
ซึ่งไตรลักษณ์ ที่เรียนรู้ในขณะจิตที่ไม่มีตัณหา เท่านั้น ถึงเป็นปัญญาเพื่อละตัวตนจริง ๆ เจ้าค่ะ ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์ของกายหรือจิต ซึ่งต่างกันมาก กับไตรลักษณ์ที่จิตมีตัณหาไปคิดเอา อันนั้นมันปรุงแต่งเพื่อตัวเรา โดยสาเหตุมันไม่เหมือนกัน โดยอาการที่ปรากฎมันก็แตกต่างกัน พอจะสังเกตออกได้เจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ อย่าประมาทในกิเลส และในธรรม
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561