ผู้ถาม : กราบเรียนขอโอกาสขอปรึกษาหลวงตานะคะ จาก วีดีโอธรรม "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" จะขอสอบถามดังนี้ค่ะ
(ถ้าเข้าใจผิดหลงหรือแปลไม่ถูกต้อง ด้วยความไม่ชำนาญต้องขออภัย และให้ผู้รู้ช่วยแนะนำให้เหมาะสมด้วยนะคะ)
- "เพราะสิ่งนี้มี ... สิ่งนี้จึงมี"
ถ้าจะใช้เป็น สิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี จะเข้าใจได้เหมือนกันหรือเปล่าคะ
เช่น Because This exists, That too exists.
ส่วนตัวเข้าใจว่าอาจจะต้องการแยกกับคำว่า “สิ่ง สิ่งนั้น” คือนิพพาน
แต่ตอนแรกอ่านจะงง ๆ เป็นว่า สิ่งนี้มีเพราะมันมีของมันเองค่ะ
- บทความนี้มีการใช้คำว่า อมตะ 2 ที่ คือ
- ธรรมชาติของสองสิ่งมีอยู่คู่กันอยู่แล้วอย่างเป็นอมตะ
- สิ่งใด “ไม่เกิด” ... สิ่งนั้น “ไม่ดับ” ... และเป็น “อมตะ” ตลอดกาล
ทีนี้คือ ส่วนตัวเข้าใจว่า อมตะ ประโยคแรกหมายถึง เป็นอย่างงั้นของมันอยู่แล้ว (แต่ก็ยังเป็นของเกิดดับ) เลยใช้คำว่า เป็นพื้นฐาน fundamentally จะถูกหรือเปล่าคะ
ส่วนประโยคหลัง อมตะ คือไม่เกิดไม่ดับ จึงใช้คำว่า deathless คือไม่ตาย และ timeless ไม่ถูกผูกด้วยเงื่อนเวลา
- “ความเป็นกลาง” หรือ “ความสิ้นยึด” หรือ “จิตหนึ่ง”
อยากจะสอบถามว่าจิตหนึ่ง กับจิตรวมในสมาธินี่คนละอย่างกันหรือเปล่าคะ
แปลโดยใช้คำว่า oneness (เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีสอง) โดยเลี่ยงใช้ one pointedness mind ซึ่งมีอ่านเจอว่ามักใช้ถึงจิตรวมในสมาธิ หรือที่รวมเป็นจุด ๆ (คือเข้าใจว่าแบบนั้น ยังมีตัวเราอยู่แกนกลางหรือเปล่าคะ)
แต่ยังนึกคำอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ไม่ออกค่ะ ถ้าเข้าใจผิดพลาด ไม่ตรงใจอย่างไร ขอท่านผู้รู้แนะนำด้วยค่ะ ถ้าไม่เป็นประโยชน์อย่างไรก็กราบขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยค่ะ
หลวงตา : จิตหนึ่งที่เป็น “วิสังขาร” หรือ หมายถึง พุทธะ ที่รู้จริง รู้แจ้ง รู้สิ้นหลง รู้สิ้นยึด รู้พ้น รู้ตื่น รู้เบิกบาน
เมื่อสิ้นยึด หรือ สิ้นอวิชชา ผู้รู้ หรือ พุทธะ ก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกับใจหรือจิตเดิมแท้ ที่ไม่มีตัวจิตตัวใจ ไม่มีตัวตนไปยึดถือสิ่งใดให้เป็นทุกข์ เป็นภพ ชาติ อีกต่อไป
มันจึงเหมือนกับความว่างเปล่าของธรรมชาติหรือจักรวาล ที่ไม่มีดวงจิตดวงใจ ไม่มีการปรุงแต่งเกิดดับ มันจึงรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล
ส่วนจิตรวมในสมถกรรมฐาน หมายถึง จิตรวมเป็น “สังขาร” รวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ใช้ล่อจิต เช่น คำบริกรรมพุทโธ เป็นต้น แล้วเกิดอารมณ์ฌาน วิตกวิจาร ปีติ สุข อุเบกขา (อารมณ์นิ่งสงบ ซึ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์ฌาน) อารมณ์ฌานทั้งหมดเป็น เวทนา ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561