ผู้ถาม : รู้...ไม่ใช่คิด
ให้รู้...โดยไม่คิด
ตราบใดที่ยังรู้แล้วคิด
ตราบนั้นยังไม่สิ้นตัวเรา (อวิชชา)
โยมเข้าใจข้อธรรมตามที่เขียนมาด้านบน กราบขอโอกาสหลวงตาเมตตาชี้แนะ ว่าผิดถูกอย่างไรเจ้าค่ะ
หลวงตา : ข้อความนี้ ยังไม่ถูกต้องตามธรรม
รู้...ไม่ใช่คิด
อันนี้ถูกต้อง
ให้รู้...โดยไม่คิด
(มันมีตัวเราเป็นผู้กระทำ ผู้พยายาม ..เพื่อ ผลประโยชน์ของตัวเรา เพื่อให้เราเป็นรู้ ที่ไม่คิด)
ตราบใดที่ยังรู้แล้วคิด ตราบนั้นยังไม่สิ้นตัวเรา (อวิชชา)
(มันจะมีตัวเราเป็นผู้กระทำ เพื่อให้เป็นรู้อย่างเดียว ไม่มีคิด ทั้งนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเรา จะได้เป็นรู้ที่ไม่คิด ..ความจริงก็หมายหรือปักธงไว้ในใจ ว่าถ้าเราปฏิบัติเป็น รู้ ที่ไม่คิดเมื่อใด จะเป็นพระนิพพาน มันมีตัวเราหลงยึดถือเป้าหมายหรือธงที่ปักไว้ในใจตลอด จะเป็นอวิชชา หรือ อวิชชาจะไม่ดับไป จนกว่าเป้าหมายหรือธงที่ปักไว้จะดับ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ทุกปัจจุบันขณะ หรือ รู้อะไรได้ทั้งหมด เป็นอะไรได้ทั้งหมด
ถ้าไม่มีผู้ยึดถือ ก็ไม่เป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือเป็นกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดภพ ชาติ..และความทุกข์)
“แม้จะรู้แล้วคิด"...ถ้าไม่มีผู้ยึดถือ คือ ไม่หลงเพลินไปตามเขา หรือ ไม่หลงเป็นมิจฉาทิฏฐิไปพยายามดับเขาเพราะไปโทษว่าเขาไม่ดี
ก็จะไม่เป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือไม่เป็นกิเลส จะไม่มีผู้ทุกข์
ถ้าบอกว่า “ให้รู้ โดยไม่คิด และ ตราบใดที่รู้แล้วคิด...”
จะหลงมีการกระทำ เป็นความพยายามให้รู้ โดยไม่คิด
ธรรมที่ถูกต้อง.....สังขารเขาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ...กุศล หรือ อกุศล
อวิชชา หรือ วิชชา
สมมติ หรือ วิมุติ
อาการถูกใจหรือไม่ถูกใจ
กิเลส หรือว่างเปล่า
........
เขาก็คงเป็นสังขาร คือ ธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง ทั้งนั้น
แม้แต่ วิสังขาร ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ก็คงเป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น
ถ้าไม่หลงมีตัวเรา ไปยึดถือ ทั้งสังขารและวิสังขาร ก็จะไม่เป็นอวิชชาขึ้นมาอีก ส่วนอวิชชาตัวเดิมก็ปล่อยเขาให้เป็นปลาเน่าแล้ว ก็เน่าไปเสีย
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561