ผู้ถาม : กราบนมัสการครับหลวงตา ขอโอกาสเรียนถามคำถามดังนี้ครับ กายจิต, กายทิพย์ และ วิสังขารที่มีอวิชชาห่อหุ้ม คือสิ่งเดียวกันหรือเปล่าครับ ถ้า เป็นสิ่งเดียวกัน เราปล่อยวางสิ่งนี้ ก็เหมือนกับเราปล่อยวางทั้งสังขารและวิสังขารหรือเปล่าครับ และปล่อยวางผู้ที่รู้ ผู้ที่เห็น กายจิตด้วยใช่ไหมครับ
หลวงตา : “รูป” มีทั้งรูปกาย และรูปจิต หรือ รูปหยาบ และรูปละเอียด
“รูปหยาบ” ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รับรู้หรือสัมผัสได้ทางประตูตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย รวมทั้งร่างกายเรา
“รูปละเอียด” ได้แก่ ธรรมารมณ์ สัมผัสหรือรับรู้ได้ทางประตูใจ หรือ มโนวิญญาณ
“รูปทิพย์” หรือ ที่โยมเรียกกายทิพย์ หรือกายจิต นั่นแหละ รับรู้ได้ด้วย จิตทิพย์หรือจิตพิเศษ หรือ เรียกว่าผู้มีตาทิพย์ หรือ ผู้มีอภิญญาทางจิตเท่านั้น เกิดจากจิตที่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ ยังมีความหลงยึดมั่นถือมั่น จิตหรือวิญญาณ ขณะจิตที่ยึดถือ จะมีตัวตนที่สร้างไว้ในจิต ที่เกิดจากผลกรรมของการคิด การพูด การกระทำไปตามอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง หรือ ราคะ โทสะ โมหะในปัจจุบันขณะนั้นๆ เช่น
ถ้าขณะจิตปัจจุบันขณะนั้น เป็นความโลภหรือราคะ จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้น ก็จะสร้างตัวตนเป็นภพ ชาติของเปรต อสุรกาย
ถ้าจิตปัจจุบันขณะนั้นเป็นโทสะ หรือ ความโกรธ ฝังแน่นในจิตที่ยึดมั่นถือมั่น จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้น ก็จะสร้างตัวตนเป็นภพ ชาติของสัตว์นรก
ถ้าขณะจิตปัจจุบันขณะนั้น เป็นโมหะ คือ เป็นนันทิ ได้แก่ความเพลินใจติดใจยินดีในกามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้นก็จะสร้างตัวตนเป็นภพ ชาติของสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าจิตขณะปัจจุบันขณะนั้น อิ่มเอิบในบุญกุศลที่เป็นทาน ศีล ภาวนา ในกุศลกรรมบทสิบ จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้นก็จะสร้างตัวตนเป็นเทวดาในภพที่ต่างกันขึ้นไป หรือ เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ ผู้มีรังสีสว่างไสว หรือ ที่คนทั่วไปเรียกว่ามีแสงออร่าสว่างไสว หน้าตาดูผุดผ่อง
ถ้าจิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้นอิ่มเอิบในรูปฌาน จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้นก็จะสร้างตัวตนเป็นรูปพรหม
ถ้าจิตขณะปัจจุบันขณะนั้นอิ่มเอิบในอรูปฌาน จิตหรือวิญญาณในขณะจิตนั้นก็จะเป็นอรูปพรหม (มีแต่จิต ไม่มีรูป)
ซึ่งรูปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือ รูปที่เปลี่ยนไปในภพทั้ง 3 ก็ล้วนเกิดจากจิตที่หลงยึดถือ เป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทานในปัจจุบัน
ถ้าสิ้นความยึดมั่นถือมั่น คือ สิ้น “อวิชชา” อย่างถาวรสิ้นเชิงแล้ว ก็จะไม่มีตัณหา อุปาทาน เรียกว่า “สิ้นกิเลส”
และเมื่อไม่มีตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่นอย่างถาวร ก็ไม่มีผู้ทุกข์อย่างถาวร หรือเรียกว่า “พ้นทุกข์” หรือ นิพพาน
หลังจากนั้นธาตุรู้ หรือ ผู้รู้ หรือ วิญญาณธาตุ หรือ จิต หรือ ใจ หรือ มโน หรือ พุทธะ หรือวิสังขาร หรือ อสังขตธาตุ หรือ ธรรมธาตุ หรือ......ฯลฯ
ก็จะไม่มีอวิชชาห่อหุ้มอีกต่อไป เป็นแต่ความรู้ที่ไม่มีตัวตน
ไม่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย หรือที่หมาย
ไม่มีรูปพรรณสัณฐานใด ไม่มีแสงสี
ไม่มีกริยาหรืออาการใดปรากฏ
มันเหมือนเป็นความว่างเปล่าของธรรมชาติหรืออวกาศหรือจักรวาล
แต่แตกต่างกัน ตรงที่ความว่างของธรรมชาติ จะไม่มีความรู้
แต่ธาตุรู้ซึ่งเป็นธรรมชาติ หรือธรรมธาตุ ..ฯลฯ มีความรู้
แต่ถ้ายึดถือ “ผู้รู้” โดยรู้สึกว่า “เราเป็นผู้รู้” หรือ “ผู้รู้เป็นเรา”
หรือรู้สึกว่ากริยาหรืออาการต่างๆ มีทั้งถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือจำได้หมายรู้อะไรเป็นอะไร หรือรู้แจ้งว่าอะไรเป็นอะไร แต่กลับยึดมั่นถือมั่นในความรู้ ในความเห็น ในความเข้าใจ ยังถูกใจเรา ไม่ถูกใจเรา
หรือเราเป็นผู้รู้แจ้ง รู้จริง รู้พ้น เราพ้นทุกข์ เรานิพพาน เราว่างเปล่า เราเป็นพระอรหันต์ เราเป็นนั่น...เราเป็นนี่... เหล่านี้ ยังเป็น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ..และทุกข์”
ปล่อยวาง;
ปล่อยวางทั้งสิ่งที่ถูกรู้และผู้รู้นั้น จิตหรือผู้รู้ จะค่อยๆปล่อยวางความยึดถือทั้งภายในและภายนอก ปล่อยวางทั้ง “ผู้รู้” ปล่อยวางทั้งผู้ปล่อยวางไปเรื่อยๆ
แต่ในที่สุด “จิต” ก็ยังคงหลงมีความยึดถือตัวมันเองอยู่ จนถึงจุดหนึ่งจิตจะเข้าใจด้วยตัวมันเองว่า จิตก็ไม่ใช่จิต ทุกอาการทางกายและความเปลี่ยนแปลงในจิต ล้วนเป็นแค่ปรากฏการณ์ธรรมชาติเท่านั้น
เมื่อนั้นจิตจะสิ้นหลงความยึดมั่นถือมั่นในตัวมันเอง เรียกว่า “สิ้นอวิชชา” ซึ่งจะไม่มีการหลงยึดถือสิ่งใดๆ อีกต่อไป เพราะจิตก็ไม่ได้มีอยู่จริง
เมื่อนั้นก็ไม่มีจิตทิพย์ กายทิพย์อีกต่อไปเช่นกัน เพราะทั้งจิตทิพย์ กายทิพย์ล้วนมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
แม้กระทั่งการเกิดใหม่ การไม่เกิดใหม่ ความมีอะไร ความไม่มีอะไร ก็ไม่ได้มีอยู่ในความไม่ยึดถือ แม้แต่ความยึดถือ หรือความไม่ยึดถือ ก็ไม่ได้มีอยู่ในความไม่ยึดถือ
ถ้ายังยึดถือความไม่ยึดถือ ก็คือความยึดถือ
เมื่อสิ้นความยึดถือ จะไม่มีความพยายามปล่อยวางความยึดถือไปสู่ความไม่ยึดถือ หรือเพื่อไปเป็นความไม่มีอะไร
ธาตุทุกธาตุไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุรู้ ล้วนเป็นธรรมชาติที่ทำหน้าที่ของตัวมันเอง ไม่ได้เป็นใคร ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันไม่ได้เรียกตัวมันเองว่ามันคืออะไร
มันก็ไม่ได้เรียกตัวมันเองว่า “จิต” หรือ “ผู้รู้” หรือ “พุทธะ”
มันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่
มันไม่ใช่ทั้งการพยายามกระทำอะไร หรือพยายามไม่กระทำอะไร เพื่ออะไร จึงไม่มีความพยายามที่จะปล่อยวาง หรือความพยายามที่จะไม่ยึดถือ
“จิต” มันเป็นธาตุตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติรู้ จึงเรียกว่าธาตุรู้ ธรรมชาติมันจึงไม่มีการยึดถือตัวมันเอง หรือพยายามที่จะช่วยตัวมันเองให้พ้นทุกข์ นิพพาน หรือไปเป็นพระอรหันต์
จงปล่อยให้ธาตุทุกธาตุทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมันไปเท่านั้น ก็จะไม่มีเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา ไปเป็นส่วนเกินของธรรมชาติ เป็นเหตุให้ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
คำถาม;
เมื่ออ่านจบแล้วหรือฟังจบแล้วมีคำถามว่า “เข้าใจหมดแล้ว แต่บางครั้งเราเห็นว่าใจเราไม่ปล่อยวางไปตามความเข้าใจ … ความเข้าใจก็ส่วนหนึ่ง แต่ใจเราไม่ปล่อยวาง บางครั้งก็รู้ บางครั้งก็ไม่รู้”
ตอบ… เพราะยังหลงมีความยึดถือว่ามีเราหรือมีตัวตนของเรา หรือหลงยึดถือจิตหรือใจว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา
จึงมีความรู้สึกว่าเราหรือใจของเราไม่ปล่อยวาง เพราะมีความคิดหรือความรู้สึกหลงปรุงแต่งไว้ในใจว่า ถ้าเราสามารถปล่อยวางได้ ใจของเราจะว่างเปล่า มีแต่ความสุข หรือ ตัวเราจะพ้นทุกข์หรือนิพพาน
ความจริง จริงๆ แล้ว ต้องมีสติ ปัญญา รู้เห็นว่า ความคิดหรือความรู้สึกว่าเรา ตัวเรา หรือของเรา เป็นเพียงสังขาร หรือ สิ่งปรุงแต่ง เป็นมายาหลอกลวงให้ลุ่มหลง เหมือนภาพยนตร์หรือละคร หากไม่หลงยึดถือเป็นจริงจัง
มันก็ปรุงแต่งของมันเก้อๆ อย่างนั้น แล้วมันก็ดับไปเป็นธรรมดา
มันจึงเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เหมือนฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า
ไม่มีผู้ไปให้ค่าอะไรกับปรากฏการณ์เหล่านั้น เห็นเป็นเเค่เรื่องปกติ เพราะถ้าให้ค่าก็คือการยึดถือให้เป็นทุกข์
ไม่ต้องพยายามคิดปรุงแต่ง หรือพยายามทำอะไรให้มันจบ เพราะธรรมชาติไม่มีใครต้องจบ ถ้ามีอยากจบก็เป็นอวิชชา หรือมีความคิดปรุงแต่งเป็นความรู้สึกว่าเรายังไม่จบ ก็เป็นอวิชชา หรือพยายามจะทำให้มันจบ ก็คืออวิชชาอยู่ดี เพราะความจบ ความไม่จบก็ไม่ได้มีค่า หรือมีความหมายอะไร เพราะถ้าสิ่งใดมีค่า ก็จะเป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าในใจไม่มีความคิด หรือความรู้สึกว่ามีตัวเรา ก็ไม่มีใครทุกข์ และจะไม่มีการกระทำเพื่อตัวเรา เพียงแต่มีปัญญาสูงสุดว่า ในธรรมชาติไม่มีเราหรือตัวตนของเรามาแต่เดิม เมื่อใจยอมรับตามความเป็นจริงของธรรมชาติเช่นนี้ ก็จะไม่มีตัวเรา หรือตัวตนของเราอยู่ในจิตหรือในความรู้สึก และแม้แต่ตัวจิตหรือตัวใจก็จะไม่มีอยู่ในใจ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561