ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
หนูกำลังจะทำภาพธรรม แต่เนื้อหายาวมาก เลยขออนุญาตส่งข้อธรรมให้หลวงตาตรวจสอบก่อนเจ้าค่ะ
หลวงตา พ่อแม่ที่แท้จริงของเราคือใคร???
อวิชชา ความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นพ่อแม่ของการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏ
อาสวะหรืออนุสัยกิเลส กิเลสเครื่องดองสันดาน คือความเคยตัว เคยใจ เป็นพ่อแม่ของอวิชชา
ความคิดหรือดำริ เป็นพ่อแม่ของอาสวะกิเลส
เพราะความคิดนั้น เป็นได้ทั้งเหตุให้สิ้นทุกข์และเป็นเหตุให้ทุกข์
ถ้าเป็นเหตุให้สิ้นทุกข์ สิ้นผู้ยึดถือ สิ้นผู้เสวยหรือสิ้นหลง ใจก็จะว่างเปล่า ไปเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ถ้าเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน ก็คงต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
พระพุทธองค์ทรงสอนให้สำรวมระวัง การคิด การพูด การกระทำ ให้รอบคอบ ให้รู้เท่าทันความคิดในทุกขณะปัจจุบัน เพราะการพูด การกระทำ มาจากความคิด
เมื่อคิดบ่อยๆ พูดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นความเคยชิน เคยชินบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นอนุสัยหรือสันดาน
ผู้ปฏิบัติพึงรู้ได้ด้วยตนเอง ว่าปฏิบัติไปในทางใด
เพื่อความสิ้นกิเลสหรือกิเลส
เพื่อความสิ้นทุกข์หรือเพื่อทุกข์
เพื่อวิชาหรืออวิชชา ความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน เป็นอวิชชา...พ่อแม่ที่แท้จริงของเรา
หลวงตา : สาธุ ที่เขียนมาทั้งหมด ถูกต้องตามธรรมแล้ว
แต่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจน และให้สิ้นกระแสความ จึงขออธิบายเพิ่ม ดังนี้
เพื่อความสิ้นกิเลส (สิ้นอวิชชา ตัณหาอุปาทาน) หรือ เพิ่มกิเลส (อวิชชา ตัณหา อุปาทาน)
เพื่อความพ้นทุกข์ (สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน) หรือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (อวิชชา ตัณหา อุปาทาน)
สิ้นกิเลส (อวิชชา ตัณหา อุปาทาน) ก็ พ้นทุกข์
กิเลส ก็มาจาก “อวิชชา” เป็นตัวเริ่มต้น จึงเกิด ตัณหา อุปาทาน
“อวิชชา” ก็มาจาก ความไม่รู้เท่าทัน จึงหลงคิดปรุงแต่งไปความเคยตัวเคยใจในการคิด การพูด การกระทำไปด้วยความยึดถือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาหลายภพชาติจนถึงปัจจุบัน เป็นเหมือนดอกเบี้ยทบต้น
การพูด การกระทำหนักไปในทางยึดถือ ก็มาจากความคิด
เพราะไม่มี “สติ” รู้เห็น หรือ รู้เท่าทัน “จิต” ที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะ และไม่มี “ปัญญา” เห็นตามความเป็นจริงว่า “จิต” ที่กำลังคิดปรุงแต่งอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ เป็นเพียง “สังขาร” หรือเป็นมายา เป็นเพียงความปรุงแต่ง ไม่
ได้มีตัวตนอยู่จริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือ ของเรา (เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
เมื่อไม่มี สติปัญญา จึงหลงคิด ปรุงแต่งหรือหลงยึดถือ “จิต” ที่กำลังคิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
ดังนั้น;
จึงต้อง “เพียรอย่างหนัก” ฝึกให้มี
“สติ ปัญญา” รู้เห็นหรือ รู้เท่าทัน “จิต” ที่กำลังคิดปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะ
และ มีสติ ปัญญา รู้เห็นหรือรู้เท่าทัน “จิต” ที่กำลังคิดปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะว่า “จิต” ที่กำลังคิดปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะ ไม่ใช่ตัวตน หรือ ไม่มีตัวตน เป็นเพียงมายา ปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็ดับไป ไม่ใช่เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ
เป็นของเรา
เมื่อมี “สติ ปัญญา” รู้เท่าทัน และ รู้เห็นตามความเป็นจริง จนใจยอมรับตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ว่า “จิต” ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือ ของเรา เขาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หลังจากนั้น ก็ได้แต่สักแต่ว่ารู้เห็น “จิต”
หรือ ไม่มีผู้ยึดถือจิตที่กำลังคิดปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะนั้น อีกต่อไป
เมื่อสิ้นผู้หลงยึดถือ ก็จะสิ้น “อวิชชา”
เมื่อไม่เป็น “อวิชชา” ก็จะไม่เป็น ตัณหา อุปาทาน...ภพ ชาติ..และทุกข์
แม้จะไม่มีผู้ยึดถือกาย (รูป) และจิต (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
แต่ถ้า.....
หลงยึดถือ “ผู้รู้” ทั้งผู้รู้ที่เป็นสังขาร และวิสังขาร
ก็ยังเป็น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน”...ภพ ชาติ..ทุกข์
จิต หรือ วิญญาณ ก็จะเป็นตัวตน ในขณะที่หลงยึดหรือเป็นอวิชชา แม้ธาตุแตก ขันธ์ดับ (ตาย) ถ้ายังไม่สิ้นหลงยึด
จิตหรือวิญญาณ ก็จะเหลือตัวตน ไปรับกรรมในภพใหม่ต่อไป
“ผู้รู้” ที่เป็นสังขาร คือ วิญญาณขันธ์ ที่ทำงานร่วมกับ เจตสิก คือ เวทนา สัญญา สังขาร ทุกปัจจุบันขณะ หรือ
“ผู้รู้” ที่ปรุงแต่ง เกิดดับได้ เป็นขันธ์ห้า มีความถูกใจ ไม่ถูกใจ จำได้หมายรู้ คิดปรุงแต่งได้
ส่วน “ผู้รู้” ที่เป็นวิสังขาร คือ วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ ที่มาผสมกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วเกิดเป็นนามรูป หรือ ขันธ์ห้าขึ้นมา
มีชื่อสมมติว่า “ใจ หรือ จิตเดิมแท้”
ถ้าหลงยึดถือว่า เราเป็น “ผู้รู้” หรือ “ผู้รู้” เป็นเรา ก็จะเป็น “อวิชชา”.....
หรือ หลงยึดถือ “ผู้รู้” ซึ่งเป็น “ใจ” หรือ “จิตเดิมแท้” ว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา หรือ
เมื่อมีอาการของใจอย่างไร ก็หลงยึดถือเอาอาการเหล่านั้น เป็นใจของเรา เช่น ใจของเราโปร่ง โล่ง เบา สบาย หรือใจของเราว่าง
หรือ เราสบายใจ เราไม่สบายใจ
อย่างที่กล่าวนี้ ก็ไม่พ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ..ทุกข์
ต้องสิ้นยึดถือโดยถาวรสิ้นเชิง ในสิ่งเหล่านี้ คือ...
1.รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือสิ่งที่สัมผัสกาย และ ธรรมารมย์ คืออารมณ์ที่ถูกรู้
2.จิตที่กำลังคิดปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ และ
3. สิ้นยึดถือ “ผู้รู้” ทั้งผู้รู้ที่เป็นสังขาร และผู้รู้ที่เป็นวิสังขาร
จึงจะสิ้น “อวิชชา”..ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ..ทุกข์ โดยถาวรสิ้นเชิง
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561