ผู้ถาม : กราบนมัสการเจ้าค่ะหลวงตา
หนูกราบขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูอาจารย์ และหลวงตา รวมถึง กัลยาณมิตรผู้แสดงธรรมนะเจ้าคะ
ด้วยเหตุที่เวลาฟังธรรมที่บ้านหนูมักจะทำธุระหรือเล่นโทรศัพท์ไปด้วย อย่างที่หลวงตาตำหนิ (ทางออนไลน์) เมื่อเช้านี้จริงๆ เจ้าค่ะ ทำให้เวลาฟังธรรมเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ธรรมไม่ลงสู่ใจ
หนูเห็นโทษและก็รู้สึกละอายแล้วเจ้าค่ะ
หนูมีข้อสงสัยที่อยากขออนุญาตเรียนถามหลวงตาเจ้าค่ะ
- หนูกราบเรียนขอคำอธิบายคำว่า “ถือศีลที่ใจ” จากหลวงตาเจ้าค่ะ (คือหนูได้ยินมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ค่ะ แต่หนูไม่ค่อยเข้าใจและไม่แน่ใจในความหมายเจ้าค่ะ)
- การยึด “นิพพาน” นี้ จะคล้ายกับการยึด “ความไม่ยึดถือ” ไหมเจ้าคะหลวงตา?
กราบขอบพระคุณหลวงตาอย่างสูงเจ้าค่ะ
หลวงตา : ให้อโหสิกรรม นะ!
ศีลที่ใจ หมายถึง ใจสงบ ปราศจากกิเลส ตัณหา ความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ และความกังวลในปัจจุบันขณะ
ศีลมีไว้เพื่อการปล่อยวาง ไม่ใช่มีใว้เพื่อยึดถือ
ดังนั้น จะไป “ถือศีลที่ใจ” ทำไม
“นิพพาน” คือ สิ้นยึดมั่น หรือ สิ้นหลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา
ดังในจึงไม่มีตัวเราไปยึดนิพพาน
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564