ผู้ถาม : เมื่ออ่านเรื่องสมาธิ - ฌาน - ญาณ ที่องค์หลวงตาเมตตาอธิบายอย่างละเอียดจบลง ความเข้าใจต่าง ๆ แจ้งขึ้นมาเชื่อมต่อกันในใจเจ้าค่ะ
รับรู้ว่ามันไม่ได้มีตัวไปจับลงรายละเอียดเหมือนเดิม ในขณะจิตที่เกิดการพิจารณาขึ้นเจ้าค่ะ เป็นเพียงการเกิดขึ้นและสืบต่อของคลื่นพลังงานที่ปรุงแต่งเป็นความเข้าใจที่ก่อตัวขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปให้จิตได้รับรู้ว่า...
ขณะนี้ความรู้ความเข้าใจภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกำลังเชื่อมเข้าหากัน ก็เลยไปเดินจงกรมทบทวนความเข้าใจนี้ เห็นกระบวนการของจิตตสังขารที่ปรุงขึ้นมาเป็นปัญญา ซึ่งทั้งหมดเค้าทำงานเอง ไม่ใช่เรา และดับจบไปแล้วเจ้าค่ะ
หลังจากทบทวน จึงได้ลองเรียบเรียงความเข้าใจปรุงแต่งเป็นภาษา ตามธรรมที่ไหลออกมา (แต่บัดนี้มันเป็นธรรมปรุงแต่งไปหมดแล้ว... แถมยาวเสียด้วยเจ้าค่ะ)
กราบขอโอกาสองค์หลวงตาเมตตาชี้แนะ หากยังมีความเห็นผิด หรือเข้าใจผิด ไม่ถูกต้องตามธรรมเจ้าค่ะ
การปฏิบัติมีหลากหลายแนวทาง รูปแบบ แต่ที่สุดแล้วรวมลงที่เดียวกัน คือ ปัญญาสูงสุด หรือ ปัญญาวิมุติ คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงตามสัจธรรม ปล่อยวางความหลงยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวง ทั้งสสาร พลังงาน ความว่าง และธาตุรู้ตามธรรมชาติ สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นในสังขารและวิสังขาร... สิ้นกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน.. พ้นทุกข์... นิพพาน
ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ (สมถะ) อมรมปัญญา (วิปัสสนา) หรือ ปัญญา (วิปัสสนา) อบรมสมาธิ (สมถะ) ล้วนเป็นทางเดินที่ต้องผ่าน อาจไม่ใช่เป็นลำดับขั้นตอนที่ต้องเหมือนกันทุกคน เพราะวาสนาบารมีมาต่างกัน เหมือนจิ๊กซอว์ที่ขาด ก็ต้องหาส่วนที่ต่อกันติดเท่านั้นมาเติมเต็ม ชิ้นส่วนที่มีอยู่แล้ว ถึงจะหามาเพิ่มอีกก็ไม่ทำให้เต็มขึ้นมาได้
ปัจจุบันนี้จึงมีแต่ปฏิบัติไปข้างหน้า โดยไม่ต้องคำนึงว่า ทำอะไรมาถึงไหนแล้ว สติกับใจรวมลงที่ปัจจุบันธรรม เพราะธรรมทั้งหมดลงที่ปัจจุบัน หลุดจากปัจจุบัน ไม่มีอะไรเป็นธรรม แต่หากพอคลำทางเจอว่าเคยทำแบบไหนมา ซึ่งมันถูกกับจริต ก็พอจะเดาทางได้ว่าควรต้องเดินต่อในทางนั้น เพื่อไม่ให้เนิ่นช้าหรือหลงทาง
เมื่อจิตยังมีความซัดส่าย ไม่ตั้งมั่น บางคนจึงมีจริตเหมาะจะต้องเดินสมถะก่อน ด้วยการฝึกสติรู้เท่าทันจิตปรุงแต่งที่ปกติส่งออกนอกไปหาธรรมารมณ์ตลอดเวลา ด้วยการหาเครื่องล่อให้อยู่ในอารมณ์เดียว ตัวอย่างเครื่องล่อนั้น เช่น คำบริกรรม (พุทโธ หรืออื่น ๆ) อานาปานสติ การพิจารณากาย การพิจารณาความตาย หรือกรรมฐานบทอื่น ๆ ที่ถูกจริต ฯลฯ
ซึ่งเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะพาจิตที่วุ่นวายกับการส่งจิตออกนอก รวมลงสู่ความสงบ ที่ใช้เป็นบาทฐานในการพิจารณาความจริงในขั้นต่อไป (วิปัสสนา)
ความสงบนี้อาจเรียกว่า “เอกัคคตาจิต” หรือ “เอกัคคตารมณ์” คือ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นอารมณ์สมถะ มีความเป็นหนึ่งโดยไม่เกาะเกี่ยว หรือ ซัดส่ายออกไปภายนอก ยังเป็นการเสวยอารมณ์ละเอียดอารมณ์เดียวอยู่ ความสงบนี้เป็นเวทนาส่วนละเอียดที่จิตยังคงเข้าไปเสวยได้
ความสงบในขั้นสมถะนี้เป็นสังขารที่สลับหน้ากับความวุ่นวาย ยังไม่ใช่ความสงบจากความปรุงแต่งที่แท้จริง อันเกิดจากการปล่อยวางสังขารและวิสังขาร ให้เค้าเป็นไปตามธรรมชาติที่เค้าเป็น (ซึ่งเป็นขั้นวิปัสสนา – ปล่อยวาง)
แต่เพราะความสงบในขั้นนี้แหละที่จะทำให้เห็นจิตตสังขารปรุงแต่งที่เกิดดับอยู่ได้ง่ายขึ้น และใช้สติสมาธิปัญญาในขันธ์ห้าในการพิจารณาเห็นความจริงและปล่อยวาง ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และตัวเราผู้รู้ตลอดสาย
สมถะ มีจุดมุ่งหมายคือ “ฌาน” จริง ๆ แล้ว ฌานเกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นทำสมถะ เหมือนกับการจุดเทียน
หาก เทียน เปรียบเหมือน สมถะ (สมาธิ)
แสงเทียน ก็เปรียบเหมือน ฌาน ที่แยกกันไม่ออก
แต่รู้ว่า เทียน กับ แสงที่ออกจากเทียน เป็นคนละอย่างกัน แต่ก็อาศัยซึ่งกันและกัน เพราะหากไม่มี เทียน ก็ ไม่มีแสงสว่างจากเทียน และเมื่อจุดเทียน ย่อมได้แสงสว่างจากเทียนแน่นอน สว่างมากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่แรงเทียน
ฉันใดก็ฉันนั้น สมาธิเป็นต้นเหตุทำให้เกิดฌาน แม้ไม่อยากได้ฌาน เมื่อทำสมาธิ ก็จะต้องได้อยู่นั่นเอง เพียงแต่กำลังของฌานที่แก่กล้าขึ้น ก็มาจากกำลังของจิต ที่จะชำนาญในวสี 5 ของฌาน (คือใช้ได้ตามใจปรารถนา) คือ ชำนาญในองค์ฌานแต่ละขั้น (รอยต่อของแต่ละฌาน) - การเข้า – การทรงอยู่ – การใช้ – การออก
ในบรรดาวสี 5 นี้ ความชำนาญในการออกจากฌานสำคัญที่สุด เพราะคือการกลับคืนสู่ “จิตปกติ” โดยไม่คาอารมณ์ฌานไว้
ผู้ปฏิบัติที่ไม่ชำนาญการออกจากฌาน จะทำให้แช่อยู่ในฌาน (คือแช่อยู่ในภวังค์หรือภพ ไม่ออกมารับรู้ตามปกติ) มีผลเสียมากกับการใช้ชีวิตตามปกติ เพราะฌานจะกด ข่ม หนีบไว้ เป็นความเครียดภายใน เมื่อถูกกระทบด้วยอารมณ์ปกติ จะออกอาการเหวี่ยง วีน ของขึ้นใส่คนรอบข้าง (จนออกอาการสงสัยได้ว่า... นี่หรือคือผู้ปฏิบัติธรรม ?)
เนื่องจากฌานเป็นการ “จับอารมณ์ละเอียด” ผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงอารมณ์ฌานได้ส่วนใหญ่จะหลงละเอียด คือ มีตัวทิฏฐิมานะที่สำคัญมั่นหมายในความรู้ความเห็นละเอียดนั้น มักจะไม่เห็นตัวเอง เพราะไม่เคยฝึกปล่อยวาง หรือ เข้าหาตัวเราผู้รู้ (ฌาน คือ การจับ และวิปัสสนา คือ การปล่อย) จึงมีแต่เอาตัวเราไปรู้ฌาน ไปเสพฌาน แต่ไม่ยอมปล่อยวางตัวเราผู้รู้
ผู้ที่ได้ฌานและไม่ยอมปล่อยฌานจึงมีปัญหากับการใช้ชีวิตตามปกติ เพราะมักจะสร้างปัญหาให้คนรอบข้าง แต่ตรงข้ามกัน หากรู้จักว่าฌานคือเครื่องมืออย่างหนึ่ง นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และไม่ติดฌาน รู้จักใช้ รู้จักวาง ฌานนั้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ โดยไม่มีโทษกับทั้งตนเองและผู้อื่น
อารมณ์ของฌาน นับตั้งแต่ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา แต่ละอารมณ์นี้มี “ตัวเรา” เข้าไปเสวยอารมณ์เหล่านั้น หรือเรียกว่า สมถะ หรือ ฌาน เป็นการ “จับ” เพราะยังมีตัวเราเข้าไปมีกิริยากระทำ โดยละเอียดภายในจิต เรียกว่า มีกิริยาจิตเป็นนามธรรมอยู่ภายใน จึงยังตกอยู่ภายใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
“อารมณ์ฌาน” แม้ละเอียดปานใด ก็เป็นเพียง “สิ่งที่ถูกรู้” (สังขาร) เพราะมีความเกิดขึ้น แปรปรวน แล้วดับไป ฌานจึงเป็นโลก หรือ โลกียฌาน จึงไม่ใช่ของน่าอัศจรรย์ เพราะเป็นธรรมชาติของสังขารประเภทหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นฌานตื้น (รูปฌาน : ฌานที่ 1-4 ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน) หรือฌานลึก (อรูปฌาน : ฌานที่ 5-8 อากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจายตนะ, อากิญจัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ) หากมีความติดใจ ยินดี พอใจในฌาน ก็จะมีตัวตนเป็น “กายโปร่งแสง” เข้าไปเสวยฌานนั้น ๆ เมื่อดับจิต หรือ ตายในฌาน ก็จะได้ภพเป็นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม ตามจิตสุดท้ายที่ดับไปในขั้นฌานนั้น ๆ
“ญาณ” เกิดจากปัญญารู้แจ้งเห็นสังขารและวิสังขาร ตามสัจธรรมความจริงที่เขาเป็น โดยปราศจากตัวตนของผู้ยึดถือ จึงเป็นการ “ปล่อยวาง” ด้วยปัญญาสูงสุด ไปตามลำดับ จนสิ้นความยึดมั่นถือมั่น หรือ สิ้นหลงว่ามีเรา ตัวเรา ตัวตนของเราอยู่ในธรรมชาติ (ญาณ ในที่นี้หมายถึง โลกุตระญาณ ไม่รวมถึงโลกียญาณ)
การมีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียวที่ใจ หรือ ปัญญาญาณ (วิปัสสนา) จึงเป็นคนละส่วนกับ สติ สมาธิ ปัญญารู้เท่าทันจิตปรุงแต่ง ไม่ให้ส่งจิตออกนอกเพื่อให้อยู่ในอารมณ์เดียว (สมถะ, ฌาน) แต่ก็พัฒนามาจาก “สติสัมปชัญญะ” ตัวเดียวกัน
ปัญญาสูงสุดจากการที่จิตเห็นความจริงจะนำไปสู่การปล่อยวาง โดยเมื่อจิตเห็น เข้าใจ ยอมรับความจริง ตามความเป็นจริง จิตจะปล่อยวางความเห็นผิดของจิตเอง เมื่อนั้นจึงเป็น “อกิริยา”
ไม่มีใคร หรือสิ่งใดสามารถทำให้จิตยอมรับความจริงได้ เพราะเมื่อจิตเห็นผิด หรือ หลงผิด ก็เป็นเอง เมื่อจิตจะศิโรราบต่อความจริง จิตจึงต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนจาก “ความเห็นผิด” เป็น “ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง” ด้วยตัวจิตเอง คือเป็น “ของเป็นเอง”
ในการปฏิบัติ ปัญญาญาณ หรือ ปัญญาสูงสุดจะเกิดขึ้นเองจากกำลังของ “สติสัมปชัญญะ” ที่รวมตัวเป็นสติ สมาธิ ปัญญาที่แก่กล้าจนกลายเป็นมหาสติ มหาปัญญา คมกริบดุจดาบเพชร ฟาดฟันอวิชชา หรือ ความหลงผิดให้ขาดกระเด็น
ผู้ปฏิบัติที่สามารถมีสติ สมาธิ ปัญญาสังเกตที่ประตูใจ ต่อการรับรู้ในสภาวะจิตตื่น คือ สภาพตื่นรู้ตามปกติ (โดยไม่ได้เสวยอารมณ์ฌาน) จึงสามารถปฏิบัติแบบจิตเห็นจิต หรือ ดำเนินวิปัสสนาได้ โดยที่ไม่ต้องได้ฌาน
เพราะมีความสงบเป็นบาทฐานจากการที่สติ สมาธิ ปัญญา รวมลงที่ใจ เห็นความจริงของสังขาร ปล่อยวางสังขาร จึงเข้าถึง “ใจที่ไม่สังขาร” และไม่หลงเอาสังขารกลับมายึดถือใจที่ไม่สังขาร ใจก็สงบจากความปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ
เมื่อสงบจากความปรุงแต่ง อาศัยความสงบนั้น จึงปล่อยวางสังขารที่ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งสังขารตัวสุดท้ายที่ละเอียดที่สุด คือ สังขารในตัวผู้รู้
เมื่อไม่ยึดเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา ก็ข้ามทะเลทุกข์ ทะเลหลงได้ และไม่ยึดถือว่าเรามีในนิพพาน นิพพานมีในเรา ปล่อยให้นิพพานเป็นนิพพานอย่างนั้นแหละ... ก็จบเรื่องกันไป ไม่ต้องถามหาภพชาติ ดังที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเมตตาเทศน์สอน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ ญาณ ปัญญาญาณ ปัญญาสูงสุด ปัญญาวิมุติ หรือ วิมุตติญาณทัสสนะ คือ เกิดปัญญามีความรู้ความเห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจในสัจธรรมความจริงดังกล่าว ด้วยใจของเจ้าของเอง...
และสุดท้ายไม่ว่า สติ สมาธิ ปัญญา ฌาน ญาณ ล้วนเป็นเพียงเรือที่ใช้ข้ามฟาก ทั้งสังขาร วิสังขาร สมมุติ วิมุตติ ก็ล้วนเป็นธรรมชาติ ที่ไม่อาจมีผู้ยึดมั่นถือมั่นได้
... สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ...
หลวงตา : สาธุ ความเข้าใจถูกต้องตามธรรมแล้ว
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562