ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาครับ อยากขอความเมตตาหลวงตาครับ ฌาน กับ สมถะ เป็นสายเดียวกันไหมครับ
ถ้าต่าง ต่างแบบไหน สมถะอยู่อารมณ์เดียวเอาเงียบสบาย ฌานมีสติรู้ตามประกบหรือเปล่าครับ ขอความเมตตาด้วยครับ
หลวงตา : “สมถะ” เป็นสมาธิในขั้นอาศัยสติรู้เท่าทันจิตปรุงแต่งไม่ให้หลงส่งจิตออกนอก
โดยให้อยู่กับเครื่องล่อจิตอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เช่น คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นต้น จนเกิดเป็น
“ขณิกสมาธิ” คือ สมาธิที่มีความสงบได้ไม่นาน
“อุปจารสมาธิ” คือ สมาธิที่มีความสงบได้นานต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
“อัปปนาสมาธิ” เป็นสมาธิระดับ “ฌาน” คือ มีความสงบต่อเนื่องได้นาน ๆ
เกิดจากจิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องล่อจิต
“ฌาน” เป็นสมาธิระดับสูง
“ญาณ” คือ มีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียวที่ใจ รู้แจ้งจากใจว่า
“สัพเพ สังขารา อนิจจา”
สังขาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง
“สัพเพ สังขารา ทุกขา”
เป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง คือ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ต้องแก่ เจ็บ ตาย
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา”
คือ ธรรมชาติที่เป็น “สังขาร” และ “วิสังขาร” เป็นอนัตตา
คือ ธรรมชาติของสังขาร ต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดอาจบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ ไม่ใช่ตัวตนคงที่
จึงไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา
ธรรมชาติของ “วิสังขาร” ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่เป็นสังขาร
คือ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ
ไม่มีตัวตนรูปร่าง ไม่ปรากฏอะไรขึ้นมา
ไม่มีสัญลักษณ์ ไม่มีจุดหมาย
ไม่มีต่อม ไม่มีที่ตั้ง
ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง
ไม่มืด และ ไม่สว่าง
ไม่มีความใหญ่ เล็ก กว้าง แคบ สูง หรือ ลึก
ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ
ไม่ใช่ฌาน หรือ อรูปฌาน
ไม่ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง
เมื่อธรรมชาติของ “วิสังขาร” เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมา ไม่มีอาการ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน จึงเป็น “อนัตตา” ไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา
เมื่อเกิดปัญญาวิมุตติ หรือ วิมุตติญาณทัสสนะ คือ เกิดปัญญามีความรู้ความเห็นแจ้งประจักษ์แก่ใจในสัจธรรมความจริงดังกล่าว ก็จะสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นทั้งสังขารและวิสังขาร ว่าเป็นตัวตนของเรา หรือ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
สิ้นหลงยึดมั่นถือมั่น ก็สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน … พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562