ผู้ถาม : เจ้าค่ะหลวงตา เริ่มเห็นความจริง รู้สึกจากใจจริง ๆ ว่า สุดท้ายแม้แต่สังขารที่มันปรุงแต่งไปยึดถือ สิ่งอื่น ๆ รวมถึงยึดถือธรรมทั้งหมด มันเป็นเพียงสักแต่ว่าสังขาร ที่มันเป็นไปของมันเอง ไม่ใช่เพราะตัวเราไปปรุงแต่ง
ถ้าเป็นตัวเราปรุงแต่ง มันทุกข์เพราะมันไปเป็นตัวปรุงแต่ง หรือมีความอยาก ไม่อยากให้มันปรุงแต่ง
แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ได้มี "เรา" ไปปรุงแต่งตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันเป็นไปของมันเอง เพียงเท่านั้น มันก็ไม่ทุกข์ไปเองเจ้าค่ะ
หลวงตา : ที่โยมบอกว่า “สังขารที่มันปรุงแต่งไปยึดถือ สิ่งอื่น ๆ รวมถึงยึดถือธรรมทั้งหมด มันเป็นเพียงสักแต่ว่าสังขาร ที่มันเป็นไปของมันเอง”
ความเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นผิด
เพราะสังขารที่ปรุงแต่งยึดถือ นั้น เกิดจากความหลงยึดถือขันธ์ห้า ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา แล้วเอาตัวเราไปหลงคิดปรุงแต่งยึดถือคนต่าง ๆ เช่น สามี ภรรยา ลูก หลาน บิดา มารดา ญาติพี่น้อง คนอื่น ๆ หรือ สิ่งอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สิน ลาภ ยศ ตำแหน่ง สุข สรรเสริญ ..... อีกต่อไปเรื่อย ๆๆ .......
ถ้ามีความชอบใจ ก็อยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ .... จนถึงมีความอยากได้ธรรม บรรลุธรรม บรรลุนิพพาน
เมื่อไม่ได้อย่างใจอยาก ก็เป็นทุกข์ โศก เศร้า เสียใจ คับแค้นใจ เหี่ยวแห้งใจ ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง กลุ้ม ....
ถ้าเป็นความชัง ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ก็ดิ้นรนทะยานอยากให้ดับไป หายไปทันที มีอาการผลักไส พยายามกำจัดออกไปให้พ้น เมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็ เป็นทุกข์ ..........
ถ้าไม่ถึงกับถูกใจ หรือ ไม่ถูกใจ ก็มีความหลงเพลิดเพลินเพลินใจติดไปกับสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันขณะนั้น โดยไม่รู้สึกตัว เรียกว่า “นันทิ” เป็นเหตุให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และ ทุกข์ .........
ดังนั้น ถ้าหลงมีตัวเราไปร่วมคิด ร่วมปรุงแต่ง มันจะเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ .... และความทุกข์ทั้งมวล
แต่ถ้ารู้แจ้งถึงใจในสัจธรรมความจริงว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเพียงสิ่งผสมปรุงแต่งจากธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุอากาศ (ความว่างที่ไม่มีความรู้) และ ธาตุรู้ (เป็นความว่างเหมือนอากาศ แต่มีความรู้)
ไม่มีความเป็นตัวเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเราในขันธ์ห้า แม้เพียงสักน้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง หรือ ปรมาณูหนึ่งเลย
***** มันเป็นเพียงความโง่ (อวิชชา) ที่ไม่รู้ว่า
“เรา คือ ใคร” ซึ่งเราที่แท้จริง ไม่ใช่ขันธ์ห้า เพราะ ขันธ์ห้าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงไม่มีส่วนที่เหลือเป็นตัวตนของเราคงที่อยู่จริง
เราที่แท้จริงเป็นใจ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็น ธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุ หรือ มหาสุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ .... ซึ่งไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง มันเป็นเหมือนกับความว่างของธรรมชาติ
ซึ่งธาตุรู้นี้ มีอยู่แล้วทั้งหมดในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ปุถุชน สัตว์เดรัจฉาน ผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดทั้งหมด
แต่นอกจากพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์แล้ว นอกนั้นหลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้า มาเป็นเรา ตัวเรา ของเรา ทั้งหมด
จึงเป็น “อวิชชา” ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิด “สังขาร” คือ มีการผสมปรุงแต่งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ในครรภ์มารดา เริ่มเป็นหยดเลือดเล็ก ๆ แล้ว โตขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นก้อนเลือด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ (ปฏิสนธิวิญญาณ) มาผสมได้ เกิดเป็นนามรูป สฬายตนะ เป็นขันธ์ห้าขึ้นมา
แต่ถ้าเป็นธาตุรู้ หรือ จิตบริสุทธิ์ แล้ว จะเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอะไรให้ผสมปรุงแต่งให้เกิดเป็นขันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิตในภพต่าง ๆ ขึ้นมาได้เลย
ดังนั้น ตั้งแต่เกิดในครรภ์มารดา จึงมี “อวิชชา” เป็นเปลือกหุ้มธาตรู้ที่ว่างเปล่า เป็นปฏิสนธิวิญญาณ มาแล้ว
เมื่อปฏิสนธิวิญญาณเข้าผสมกับก้อนเลือดในครรภ์มารดา ซึ่งเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ เกิดเป็นขันธ์ห้าขึ้นมา จึงมี “อวิชชา” คือ ความหลงยึดถือขันธ์เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา ตัวเรา ของเรา นอนเนื่องอยู่ในจิตเดิมแท้
แต่เนื่องจากยังเป็นทารก หรือ เป็นเด็กไร้เดียงสาอยู่ จึงยังไม่สามารถคิดปรุงแต่งยึดถือให้เกิดเป็นกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ ความโลภ โกรธ หลง ได้ เช่น
ถ้าชอบใจ ก็ไม่อาจแสดงอาการคิดปรุงแต่งเป็นความโลภ หรือ ความรู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์
ถ้าไม่ถูกใจ ก็ไม่มีความคิดปรุงแต่งเป็นความโกรธแค้น ผูกใจเจ็บ อาฆาตพยาบาท
ถ้าไม่ถึงขั้นถูกใจ หรือ ไม่ถูกใจ ก็ไม่หลงคิดปรุงแต่งมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งใด หรือ มีอาการหลงหมกมุ่นครุ่นคิด เหม่อลอย เป็นต้น
แต่แม้ในปัจจุบันขณะ จะไม่หลงคิด หลงปรุงแต่งเป็นกิเลสขึ้นมา แต่ก็ยังมี “อวิชชา” แอบแฝงนอนเนื่องอยู่ในใจ
ดังนั้น เมื่อความหลงยึดถือขันธ์ยังมีนอนเนื่องอยู่ในใจ หรือ จิตเดิมแท้ ครั้นเจริญวัยเป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่ จึงคิดปรุงแต่งยึดถือขันธ์ห้าเป็นเรา ตัวเรา ของเรา แล้วมีเราเป็นผู้คิด ผู้ปรุงแต่ง เป็นกิเลส ตัณหา ต่อสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในปัจจุบันขณะนั้น เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งมวล
เมื่อยังมี “อวิชชา” นอนเนื่องอยู่ในจิตใต้สำนึก
ดังนั้น ทุกความเห็นในการคิด การพูด การกระทำในปัจจุบันขณะ จะออกไปจาก “อัตตา” คือ มีเรา หรือ ตัวเราเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ออกไปจาก “ใจ” ที่เป็น “อนัตตา” หรือ “สุญญตา” ซึ่งเป็นความว่างจากอัตตาตัวตน
***** การที่จะสิ้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และ ความทุกข์ทั้งมวล มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น คือ
“ต้องพ้นจากสังขารเท่านั้น” ซึ่งสังขารมีสาม คือ จิตตสังขาร วาจาสังขาร และกายสังขาร
แต่ วาจาสังขาร และ กายสังขาร คือ จะพูด และจะกระทำได้ ก็ต้องเกิดจากจิตตสังขาร คือ การคิด หรือ การปรุงแต่งขึ้นมาในใจเสียก่อน ดังนั้น ถ้าหลุดพ้นจากจิตตสังขาร ก็จะหลุดพ้นจากวาจาสังขาร และ กายสังขารด้วย
ดังนั้น ต้องเพียรฝึกสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยความอดทน อดกลั้น (ขันติ) ที่จะรู้เห็น หรือ รู้เท่าทันจิตตสังขาร คือ ความคิด ความปรุงแต่งทุกปัจจุบันขณะ
โดยไม่หลงติดไป และ
ไม่พยายามดับจิตตสังขารให้สงบนิ่ง หรือ
ไม่พยายามรั้งตัวเองไว้ เพื่อไม่ให้หลงติดไปกับอะไร ไม่ให้ไปมีอารมณ์ร่วม
ซึ่งการพยายามเช่นนั้น มันหลงปรุงแต่งยึดถือ
จิตตสังขาร ซึ่งเป็นความคิด ความปรุงแต่ง และ อารมณ์ต่างๆในปัจจุบันขณะ จะเกิดที่ “ใจ” และ ดับที่ “ใจ” ที่เป็น “วิสังขาร” ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เป็น “เอโก ธัมโม”
เป็นความรู้ออกมาจากว่าง (อนัตตา มหาสุญญตา) ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปสัณฐาน ไม่มีสัญลักษณ์ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่หมาย ไม่มีจุด หรือ ต่อมของผู้รู้ ไม่มีอาการเกิดดับ และไม่ได้มีขึ้นเมื่อมีการเกิด ไม่ได้ดับไปเมื่อมีการตาย แม้แต่ขณะหลงยึดถือ หลงคิด หรือ หลงปรุงแต่ง สิ่งนี้ก็ไม่ได้หายไป ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่งอยู่
***** ขณะจิตปัจจุบัน ถ้าไม่หลงเป็นจิตตสังขาร ขณะจิตนั้นก็เป็นจิตบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า “ใจ” โดยอัตโนมัติ
เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เพราะ หายโง่ (อวิชชาดับ)
เพราะไม่หลงคิด หลงปรุงแต่ง
ไม่หลงพยายามไปดับความคิด ความปรุงแต่ง
ไม่หลงพยายามรักษาตัวเราไว้ไม่ให้หลงคิด หลงปรุงแต่ง
*** แต่ถ้าหลงยึดถือจิตที่บริสุทธิ์ แสดงว่ายังมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซ่อนเร้นอยู่ในจิต ทำให้จิตไม่บริสุทธิ์
ต้องสิ้นผู้เสวย หรือ สิ้นผู้ยึดถือธรรมที่เป็นทั้งสังขาร และ วิสังขาร ดังพุทธพจน์ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ”“อวิชชา” ที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจหรือจิตเดิม จึงจะดับ
แล้ว ใจ หรือ จิตเดิมแท้ จึงบริสุทธิ์
“อวิชชา” ดับ เพราะ ไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ หรือ
สิ้นยึดถือ เพราะไม่มีตัวตน
ทั้งนี้ เพราะรู้แจ้งแก่ใจว่า ......
“สัพเพ สังขารา อนิจจา” - สังขารไม่เที่ยง
“สัพเพ สังขารา ทุกขา” - สังขารเป็นทุกข์
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา - ธรรมทั้งสังขาร และ วิสังขาร ไม่ใช่อัตตาตัวตน ไม่ได้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
เมื่อ “อวิชชา” ดับ .... สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ
ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ .... และความทุกข์ทั้งมวล ก็ดับพร้อม
“นิพพาน” หายโง่ (สิ้นอวิชชา) เท่านั้น ก็สลัดคืนธาตุทุกธาตุคืนธรรมชาติเขาไปหมดใจ ไม่เยื่อใยอาลัยอาวรณ์ในขันธ์ห้า ที่ประกอบขึ้นมาด้วยธาตุตามธรรมชาติทั้งหมดอีกเลย
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562