ผู้ถาม : โยม ได้กราบหลวงตาเมื่อเย็น น้อมฟังธรรมด้วยความชัดเจนในความจริงของธรรมชาติ .. ยอม .. สงบ สงัด เจ้าค่ะ
.. ขอบพระคุณคุณมุ้ย ท่านแสดงธรรมฟังทุกครั้งในไลน์ ครั้งนี้ได้ฟังตัวจริง เสียงจริง ท่านตอกย้ำซ้ำทวน ด้วยภาษาง่าย ๆ เปรียบเทียบดีมาก ยิ่งชัดเจน .. ยอม ยอม ยอม ..
น้อมกราบหลวงตาด้วยเศียรเกล้า
หลวงตา : ความแตกต่างระหว่าง
หลงคิด
กับ
รู้คิด
คิด ต้อง ใช้ระบบการทำงานของสมอง เมื่อสมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือ สมองตายเน่า ความจำก็หายไป หรือ เป็นอัลไซเมอร์ ก็คิดเกี่ยวกับสิ่งที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะจำไม่ได้
ส่วน “รู้” ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง เพราะเป็นวิสังขาร
“รู้” ออกมาจากใจ
“รู้” ไม่ใช่คิด
คิด ไม่ใช่รู้
ต้องสังเกตให้ออกความแตกต่างระหว่าง เป็นผู้คิด กับ รู้ตัวว่าจิตตสังขารกำลังคิดตรึกตรองปรุงแต่ง
ขณะที่ “เป็นผู้รู้” หรือ “ผู้เห็น” จิตที่กำลังคิดในปัจจุบันขณะนั้น ผู้รู้หรือ ผู้เห็นด้วยใจนั้น จะไม่ปรากฏตัวตน ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดอยู่
ถ้าแยกด้วยใจไม่ออกอย่างเด็ดขาดว่า กรณีอย่างไรเป็นผู้คิด กับ กรณีอย่างใดเป็นผู้รู้ หรือ เป็นผู้เห็นจิตที่คิดปรุงแต่ง
ก็จะเป็นผู้หลงคิดปรุงแต่ง โดยหลงยึดถือ (อวิชชา) ว่า เรา ตัวเรา เป็นผู้คิด และ เมื่อ เกิดความสุข ความทุกข์ หรือ
เกิดอาการต่าง ๆ หรือ อารมณ์ต่าง ๆ ก็จะหลงยึดถืออาการเหล่านั้น เป็นของเรา หรือ ตัวเราเป็นอาการนั้น ทำให้เกิดความทุกข์ หรือ ไม่พ้นทุกข์ (นิพพาน)
เมื่อแยกออกแล้วอย่างชัดเจนแล้ว
จะไม่หลงเป็นผู้คิด
แต่ถ้าขณะใดจะตั้งใจคิด ก็ต้องตั้งใจคิดเรื่องนั้นด้วยความรู้ตัว
ถ้าแยกไม่ออกระหว่างหลงเป็นผู้คิด ไม่ได้เป็นผู้รู้หรือผู้เห็น ก็จะหลงคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปทั้งวันทั้งคืน โดย จะหลงยึดถือว่าผู้คิดปรุงแต่งนั้น ซึ่งเป็นขันธ์ห้า เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
ถ้าเป็นผู้หลงคิด หลงปรุงแต่ง หลงยึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา ซึ่งเป็น “อวิชชา” ครั้นสมองตาย เพราะขันธ์ห้าดับแล้ว แต่อวิชชา จะยังเป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดสังขารกรรม สังขารกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณกรรม ... นำไปเกิดตามกรรมให้เป็นทุกข์ต่อไป
แต่ถ้าเป็น “ผู้รู้” หรือ ผู้เห็นจิตคิดปรุงแต่ง ด้วย “ใจ” ซึ่งเป็นธรรมธาตุ คือ เป็นธาตุรู้ หรือ เป็นธรรมชาติที่บริสุทธ์ จะได้แต่รู้ ไม่อาจคิดปรุงแต่งได้ ไม่มีตัวตน มันเป็นเหมือนกับความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล ซึ่งเป็นธาตุอากาศ
แต่ความว่างของธาตุอากาศ เป็นความว่างที่ไม่มีความรู้
แต่ธาตุรู้ เป็นความไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์หรือรูปสัณฐานใด ไม่ปรากฏการเกิดดับ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดอยู่ มันจึงเป็นเหมือนความว่างของธาตุอากาศ
ดังนั้น เมื่อ สิ้นหลงยึดถือ หรือ สิ้นหลงคิดปรุงแต่ง จึงเป็นธาตุรู้ที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างในธรรมชาติ ไม่มีตัวตนไปเกิดให้เป็นทุกข์ อีกต่อไป
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562