ผู้ถาม : ได้มาฝึกกับพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านหนึ่ง ก็ถึงสภาวะนิพพานถาวร ไม่มีการไปไม่มีการมาอีกค่ะ ท่านให้หลักให้ปฏิบัติเหมือนตอนที่ได้สภาวะโสดาบัน (ทิ้งกายก่อนคือธาตุสี่ แล้วต่อจากนั้นเดินจิต ด้วยการเพิกสมมติบัญญัติเงียบหมด
ทั้งข้างนอกข้างใน จะเกิดสภาวะ "รู้แต่ไม่คิด" จิตจะเดินวิปัสสนาเอง ปฏิบัติตัวเอง พออะไรโผล่เข้ามา สติในขันธ์ห้า มันจะตัดโดยอัตโนมัติจนเป็นมหาสติมหาปัญญาเร็วปานปรมาณู
อะไรโผล่เข้ามาให้จิตรู้มันตัดหมด (ไม่ยึด) คือ รู้อะไรแล้วติดในสิ่งที่รู้นั้นเป็นสมมติ ถ้ารู้อะไรแล้ว
ไม่ยึดติดเป็นวิมุติโดยอัตโนมัติ จนมันถึงความไม่มีอะไรคือเป็นธาตุรู้ที่ไม่มีอวิชชา
จิตมันก็ตัดอีก ตัดความไม่มีอะไร (วิสังขาร) คือมันไม่ยึดตัวมันเอง คือไม่ยึดรู้ เพราะความไม่มีอะไร ธาตรู้มันก็ไม่ยึดตัวเอง
มันก็เลยวิสังขารไปจนหาที่หมายไม่ได้ แล้วเกิดสภาวะนิพพานถาวรคือความไม่มีอะไร ไม่มีการ
กลับไปกลับมาระหว่างสังขารกับวิสังขาร (นิพพานชั่วคราว) มาเป็นสภาวะที่ขันธ์ห้า ก็ยังทำงานอยู่คู่กับ
ความไม่มีอะไรคือไม่มีความปรุงแต่ง แต่อยู่คนละมิติกัน
จึงกราบส่งการปฏิบัติมายังพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยความสำนึกและระลึกถึงในบุญคุณมิรู้ลืมเจ้าค่ะ
หลวงตา : คงต้องให้ตอบคำถามในใจตนเองให้ได้ว่า สติในขันธ์ห้า สามารถไปตัดอะไรได้หรือ สภาวะวิสังขารสามารถใช้สติซึ่งเป็นขันธ์ห้าไปตัดได้หรือ จิตที่ไปตัดโน่นตัดนี่เป็นกิริยาของจิต เมื่อมีกิริยาเกิดขึ้นมันจะเป็นวิสังขารได้อย่างไร
ในเมื่อสภาวะวิสังขารนั้นเป็นอกิริยา ลองทบทวนด้วยสติให้ดี อ่านใจตนเองให้ขาด ว่าจริง ๆ แล้ว เรามีตัวแอบปรารถนาอะไรหรือไม่ ไปเสวยไปเสพสภาวะนิพพานถาวรปลอมหรือเปล่า
สังเกตให้ดี ๆ ว่ายังมีกิริยาจิตที่แอบกระทำอะไร ๆ ในใจเพื่ออะไรหรือเปล่า แอบนึกคิดตรึกตรองปรุงแต่งฟุ้งในธรรมหรือนิพพานหรือไม่ ยังมีความหงุดหงิดในใจ ยังมีความที่จะเอาอะไรในสิ่งที่ถูกใจ หรือปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ถูกใจ หงุดหงิด
รำคาญใจ กังวลใจ มีความฟุ้งซ่านใด ๆ หรือไม่ ยังมีความรู้สึกว่าเรารู้แจ้ง เรานิพพานถาวร เราเป็นพระอรหันต์หรือไม่ เราเหนือกว่าใคร เราต่ำกว่าใคร เราเสมอกว่าใคร หรือไม่ หรือเมื่อพบกับคนใดที่ไม่เคยถูกกันมาก่อน แม้จะเป็นเวลา
เนิ่นนานมาแล้ว ก็ยังรู้สึกเคอะเขินอยู่ในใจหรือไม่ หรือยังมีความอยาก ความไม่อยากใด ๆ หรือไม่
ให้สำรวจตรวจสอบจิตใจของตนเองดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นให้ดี ๆ เพราะเห็นว่ายังมีความหลงอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากมีความอยากได้นิพพานมากเกินไปจึงหาทางลัดให้แก่ใจตนเอง
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562