ผู้ถาม : นมัสการค่ะหลวงตา ธรรมอันนี้เข้าถึงใจมากค่ะ ทำให้แยกแยะ ส่วนของใจกับส่วนของขันธ์ห้า (ที่ขันธ์ห้าทำงานผ่านทางอายตนะ) ถ้าเราสักแต่รู้ได้ คือรู้ แล้วไม่ยึดมั่น ไม่มีตัวเรา ในการทำงานของอายตนะ ก็ทำให้ใจ (ธาตุรู้) อยู่ได้กับขันธ์ห้า เหมือนน้ำกับน้ำมันที่อยู่ในขวดเดียวกันแต่ไม่รวมกันค่ะ ต่างคนต่างอยู่ มีลักษณะและหน้าที่เฉพาะตัวที่ต่างกันค่ะ
กราบนมัสการค่ะหลวงตา ขอเรียนถามธรรมะกับหลวงตาเป็นข้อ ๆ ดังนี้นะคะ
- โยมเข้าใจธาตุรู้ (อมตธาตุ, นิพพานธาตุ...) กับวิญญาณ (จิตหรือมโน) ในขันธ์ห้า ได้ถูกต้องตามที่หลวงตาได้เมตตาอธิบายหรือเปล่าคะ โดยปกติแล้วโยมยังไม่ค่อยกล้าคิดถึงเรื่องธาตุรู้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าเห็นได้ถูกตัวหรือเปล่า กลัวเป็นการคิดนึกเอาค่ะ
ทุกวันเลยทำตามอย่าง บทความธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่หลวงตาเคยส่งมานานแล้วในไลน์กลุ่มค่ะ ถ้าจำไม่คลาดเคลื่อนก็จะประมาณว่าให้เพียรปฏิบัติมีสติ มีสัมปชัญญะ เช่น ถ้ารู้พุทโธ ก็เพียรรู้จนจิตสงบ แล้วจะมีความรู้ที่ออกมาจากจิต
จากนั้นก็จะรู้เองโดยที่ไม่ได้เป็นความรู้จากสัญญา แต่เป็นความรู้จริงที่ออกมาจากจิตค่ะ
- อวิชชาอยู่ในธาตุรู้หรืออยู่ในจิตคะ อันนี้สงสัยมานานแล้วค่ะ (เคยคิดว่าอีกหน่อยเพียรปฏิบัติไปเรื่อย ๆ สักวันอาจจะรู้ได้เอง) แต่ช่วง 2-3 ปีนี้ ได้มาอ่านธรรมะและได้ฟังที่หลวงตาบรรยายธรรม ซึ่งก็จะมีคำว่า ธาตุรู้ กับ จิต บ่อยมาก ขอความเมตตาหลวงตาช่วยให้ความกระจ่างด้วยค่ะ
รู้นะคะว่าที่ถามไปทั้งหมด มีตัวเราเพื่อจะให้เราได้เข้าใจเป็นสังขารทั้งหมดค่ะ แต่โยมขออนุญาต ใช้สังขารเพื่อเข้าถึงวิสังขารค่ะ เปรียบเหมือนสร้างทางเดิน เพื่อให้รู้ทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดินค่ะ (อันนี้รู้จำ แต่ยังไม่ใช่รู้จริงค่ะ) กราบนมัสการในความเมตตาของหลวงตาอย่างสูงด้วยค่ะ
หลวงตา : ธาตุรู้ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ มีแต่ความรู้ออกมาจากใจว่า ไม่มีตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีตนของผู้รู้ ไม่มีตัวตนยึดถือว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา เป็นแต่ความรู้บริสุทธิ์ที่ปราศจากตัวตน
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562