ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาครับ ผมเขียนธรรมให้ญาติคนหนึ่งไปพิจารณา เป็นธรรมที่ได้จากการฟังธรรมหลวงตาครับ หลวงตาโปรดเมตตาพิจารณามีส่วนใดคลาดเคลื่อนบ้างไหมครับ
สังขารคืออะไร
สังขารคือสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไป สิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วดับไปไม่ว่าใครจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไรสิ่งนั้นย่อมเป็นสังขารทั้งสิ้น เช่น โลก ดวงดาว ร่างกายคน สัตว์ ต้นไม้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนเป็นสังขารทั้งสิ้น
จิตคืออะไร
จิตคือ ความนึกคิด หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในใจ สภาพของจิตนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไป ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในใจแล้วดับไปสิ่งนั้นคือจิต จิตคือสังขารชนิดหนึ่ง จิตเป็นสังขารประเภทนามธรรมไม่อาจจับต้องได้แต่มีพลังงาน
ใจคืออะไร
ใจคือ ความว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุด มีอยู่เป็นนิรันดร์ เมื่อมีอยู่แล้วก็ไม่ดับไป ใจคือที่เกิดที่ดับของจิต จิตมาเกิดในใจแล้วดับไปดวงแล้วดวงเล่า ถ้าจะอธิบายถึงใจ ใจก็เปรียบเสมือนความว่างของจักรวาลที่ไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนจิตคือดวงดาวต่าง ๆ ที่อยู่ในจักรวาล ดวงดาวต่าง ๆ นั้นไม่ว่าจะอายุสั้นหรือยาวนานก็จะต้องแตกดับไปทุกดวงเช่นเดียวกับจิต ภาษาธรรมเรียกใจว่า วิสังขาร (คือไม่ใช่สังขาร ไม่อาจปรุงแต่งได้) ใจมีหน้าที่รู้ได้อย่างเดียว พูดก็ไม่ได้ คิดก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่างนอกจากรู้ ในตัวคน สัตว์มีใจอยู่ทุกคน ทุกตัวสัตว์ (ยกตัวอย่าง เมื่อเอามือไปโดนของร้อน จะรู้สึกร้อนทันทีโดยไม่ต้องคิด ความรู้สึกร้อนทันทีนั่นคือการทำหน้าที่ของใจ มันรู้สึกร้อน แต่เมื่อร้อนแล้วคิดขึ้นมาว่าทำไมมันร้อนอย่างนี้ ใครเอาของร้อน ๆ มาวางไว้ตรงนี้ อันนี้เป็นการทำหน้าที่ของจิตที่คิดปรุงแต่ง)
เห็นจิตได้อย่างไร
จิตคือความนึกคิด คุณคิดอะไรอยู่ในใจคุณ คุณรู้ว่าคุณคิดอะไรอยู่ นั่นแหละจิต เพียรรู้ความคิดของตัวเอง เพียรรู้ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นในใจของคุณ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในใจคุณนั่นแหละคือจิต ระวังอย่าได้หลงความนึกคิดปรุงแต่งของคุณ ระวังให้ดีผู้ที่คอยรู้ความคิดในใจนั่นก็เป็นจิตอย่าได้หลงว่านั่นเป็นเรา ผู้ที่รู้อยู่นั่นก็เป็นจิตพิจารณาดูให้ดี จำไว้ให้ดีสิ่งใดเกิดขึ้นในใจคือจิตทั้งสิ้น
เราคือใคร
ที่แท้จริงไม่มีเรา ร่างกายคนที่มีชีวิตอยู่นี้ประกอบไปด้วยกายเนื้อซึ่งจะเรียกว่ารูปธรรม กับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนที่เป็นนามธรรม ส่วนที่เป็นนามธรรมนี้ประกอบไปด้วยสองส่วนคือส่วนที่เป็นจิตกับใจ เมื่อมีครบทั้งรูปธรรมและนามธรรมอยู่ในตัวคน สัตว์ ย่อมจะเรียกได้ว่ามีชีวิต สิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา จิตใจนี้เป็นเรา ร่างกายและจิตใจนี้เป็นเราเป็นของของเรา เป็นเพราะจิตมันหลงคิดว่าจิตนี้มันเป็นเราร่างกายที่จิตมันครองอยู่นี้มันเป็นเรา เมื่อมันหลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา จิตนี้เป็นเรา มันจึงหลงต่อไปว่าโน่น นี่ นั่นเป็นของเรา เมื่อตาเห็นรูปเกิดความคิดปรุงแต่งหลงไปกับรูปที่เห็น จึงเกิดเป็นความทุกข์ต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด จะเห็นว่าความทุกข์มีจุดกำเนิดมาจากการที่จิตมันหลงคิดว่าจิตนี้เป็นเรา หากจะพ้นทุกข์ก็ต้องมาเข้าใจเสียใหม่ว่าที่แท้จิตไม่ใช่เรา มันเกิดแล้วมันก็ดับไป ร่างกายก็ยิ่งไม่ใช่เราเพราะร่างกายมันคิดเองไม่ได้ ที่เข้าใจว่าร่างกายเป็นเราก็เพราะจิตมันเข้าใจว่านี่จิตเราแล้วนี่ร่างกายของเรา
ปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมไปเพื่ออะไร
ก็เพื่อให้ไม่ทุกข์ เพราะต้นเหตุแห่งความทุกข์คือความหลงว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นเรา จึงเกิดความยึดถือต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เมื่อเข้าใจว่าที่แท้จริงไม่มีเราก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือก็ไม่มีความทุกข์ ที่แท้ความทุกข์เกิดจากการหลงสังขาร หลงความคิดของตัวเองนี่เอง
ปฏิบัติผิดทาง
หัวใจของการปฏิบัติคือความเข้าใจว่าไม่มีเรา ที่อธิบายเรื่องสังขาร จิต (ความคิดปรุงแต่ง) ใจ (วิสังขาร) นั้นเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปเท่านั้น ไม่ได้ให้ไปรังเกียจสังขารว่าไม่ดี ไม่ได้ให้ไปเอาวิสังขาร ไม่ได้ให้ไปเอาอะไรหรือไปทิ้งอะไร เข้าใจก็พอ
อยู่กับโลกอย่างไร
เมื่อเข้าใจแล้วก็แล้วไป มีบ้านก็อยู่ไป มีอะไรก็กินไป มีลูกมีสามีมีภรรยาก็มีไปอยู่กินเลี้ยงดูกันไปตามปกติ มีทรัพย์สมบัติก็ใช้ไป หาอยู่หากินไปตามปกติ อยู่ไปตามธรรมชาติ ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะชีวิตคือธรรมชาติ เพียงแต่อย่าหลงสังขารโดยเอาศีลห้าเป็นขอบเขต (คืออย่าผิดศีลห้า)
หลวงตา : ธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร หรือ อสังขตธาตุ ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษญ์ ไม่มีสุขทุกข์ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ ไม่มีที่อยู่ที่ตั้ง แต่รู้แจ้งสัจธรรมทั้งสังขาร และ วิสังขาร ว่า …….”สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา สัพเพธรรมาอนัตตา สัพเพธรรมา นาลัง อภินิเวสายะ” มีชื่อสมมติหลายชื่อ เช่นจิตบริสุทธิ์ จิตเดิมแท้ ใจ(ใจบริสุทธิ์) ใจเดิมแท้ วิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ธรรมธาตุ สุญญตา นิพพาน …….
ส่วนธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นมาจากความไม่มี แล้วมีขึ้นมา หรือ ปรากฏขึ้นมา แล้วเสื่อมไป ดับไปสู่ความไม่มีสิ่งนั้นตามเดิม เรียกว่า “สังขาร” คือ ความปรุงแต่ง หรือ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่ง มีทั้งรูปนาม สสาร พลังงาน หรือ กายสังขาร วาจาสังขาร จิตตสังขาร หรือ สิ่งที่ถูกรู้ (อารมณ์) และ จิต (ผู้รู้อารมณ์) ในปัจจุบันขณะ
***** ทั้งสังขาร และ วิสังขาร เป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่ได้เป็นตัวเรา หรือ ของเรา เพราะความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จึงหลงยึดมั่นถือมั่น (อวิชชา) ธรรมชาติทั้งสองนั้นมาเป็นตัวเรา ของเรา
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566