ผู้ถาม : กราบขอโอกาสหลวงตาค่ะ
เนื่องจากหลวงปู่ท่านเมตตาให้คุณซ้งช่วยแปลภาษาจีนวิสัชชนาของหลวงตา
หลวงตา : ทุกปัจจุบันขณะ อย่ามัวแต่ไปสนใจ ใส่ใจ ให้ค่า ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกรู้ เช่น แสง สี นิมิตต่าง ๆ หรือ อารมณ์ที่ถูกรู้ หรือ สภาวะใด ๆ ที่ถูกรู้ เช่น ความเงียบ สงบ สงัด นิ่ง เฉย ว่างเปล่า เป็นต้น
***** ให้ใส่ใจปล่อยวาง “ผู้รู้” ทุกปัจจุบันขณะ
***** เมื่อใส่ใจปล่อยวางแต่ผู้รู้ ก็จะพบเห็นผู้รู้
ถ้าไม่ใส่ใจปล่อยวางผู้รู้ ก็จะไม่พบเห็นผู้รู้ เพราะจะมัวแต่ไปใส่ใจให้ค่า ให้ความสำคัญ ยึดถือแต่สิ่งที่ถูกรู้ สภาวะที่ถูกรู้ หรือ อารมณ์ที่ถูกรู้
ก็จะหลงเพลินใจ สบายใจ ทุกข์ใจ เครียด วิตกกังวล ท้อแท้ ซึมเศร้า เบื่อ เซ็ง กลุ้ม
ไม่ว่าจะมีอาการนิ่ง เฉย เงียบ สงบ สงัด ว่างเปล่าเพียงใด ผู้รู้อารมณ์หรือสภาวะธรรมในปัจจุบันขณะทุกปัจจุบันขณะ จะต้องคิดตรึกตรองปรุงแต่งเหมือนคนบ้าพูดบ่นอยู่คนเดียวในใจ
มีความดิ้นรน สงสัย หงุดหงิด รำคาญ เบื่อ เซ็ง กลุ้ม มีความอยาก ไม่อยากอยู่คนเดียวในใจตลอดเวลา ๆ ๆ ๆ……….
*****ให้ปล่อยวางทั้ง “ผู้รู้” และ สิ่งที่ถูกรู้ สภาวะธรรมที่ถูกรู้ หรือ อารมณ์ที่ถูกรู้ทั้งหมด
ปล่อยวางทั้งผู้รู้ที่คิดตรึกตรองปรุงแต่งได้ และ ผู้รู้ที่ไม่คิดตรึกตรองปรุงแต่ง โดยไม่หลงยึดมั่นว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา หรือ เป็นจิตใจซึ่งเป็นผู้รู้เป็นของเรา
***** พระนิพพานไม่ใช่ผู้รู้ พระนิพพานเหนือผู้รู้ขึ้นไปจนไม่มีที่หมาย (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต)
ผู้ถาม : จึงต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษออกมาก่อนค่ะ จึงมีคำถามต้องกราบขอโอกาสหลวงตาเมตตาอธิบายตรงที่ว่า
***** ให้ใส่ใจปล่อยวาง”ผู้รู้” ทุกปัจจุบันขณะ
***** เมื่อใส่ใจปล่อยวางแต่ผู้รู้ ก็จะพบเห็นผู้รู้
ให้ใส่ใจปล่อยวางผู้รู้ หมายถึง ผู้รู้ที่เป็นวิญญาณขันธ์ที่ทำงานร่วมกับเจตสิก ที่คิดพูดพากย์ ต่อสิ่งที่ถูกรู้อยู่ตลอดเวลา
ตรงเมื่อใส่ใจปล่อยวางแต่ผู้รู้ ก็จะพบเห็นผู้รู้ >>> ตรงก็จะพบเห็นผู้รู้ ผู้รู้ตรงนี้หมายถึงผู้รู้ที่เป็นใจที่ได้แต่รู้ หรือผู้รู้ที่เป็นจิตอวิชชาที่ยึดถือใจเป็นเราคะหลวงตา
หลวงตา : ปล่อยวางจิตผู้รู้ปัจจุบันขณะ (ผู้รู้ปลอม คือ วิญญาณขันธ์ทำงานร่วมเจตสิก (เวทนา สัญญา สังขาร) เกิดดับทุกปัจจุบันขณะ (เป็นจิตตสังขาร)
แล้วจะพบผู้รู้ที่เป็นจิตหรือใจเดิมแท้ (วิสังขาร) ไม่เกิดดับ หรือ ไม่เกิดตาย เพราะไม่มีตัวตนรูปลักษณ์ ไม่มีกิริยา อาการ หรือ ไม่มีสิ่งปรากฏ ซึ่งก็ต้องปล่อยวางหรือ สิ้นยึดผู้รู้ซึ่งเป็นจิตหรือใจเดิมแท้นั้นเสียด้วย
จึงจะนิพพาน (สิ้นผู้เสวย สิ้นผู้กินอาการ สิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น สิ้นกิเลส สิ้นตัณหา พ้นทุกข์ สงบเย็น)
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566