ผู้ถาม : น้อมกราบขอโอกาสเจ้าค่ะ
พอดีหนูกับหญิงวิสัชนาเรื่องรูปพรหมกันเจ้าค่ะ เพื่อที่จะเขียนออกมาให้ไม่ผิดพลาด เพราะรูปพรหมเกิดขึ้นจากการยึดถือพวกอารมณ์ รูปฌาน ปีติ สุข อุเบกขา แบ่งตามฌาน 1 2 3 4 แล้วปรุงความว่างที่ไม่มีอะไรขึ้นเป็นดวงจิต
ตรงนี้หนูน้อมกราบขอความเมตตาองค์หลวงตา ขยายเพิ่มเติมให้ด้วยเจ้าค่ะ
และควรใช้ประโยคที่ว่า จากความยึดถือได้สร้างเป็นดวงจิตในความว่าง เป็นรูปพรหม หรือควรใช้ประโยคที่ว่า จากความว่างที่ถูกยึดถือสร้างเป็นดวงจิตขึ้นมาในความว่างนั้นเป็นรูปพรหม
กราบขอความเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : ไม่ใช่ทั้งสองอย่างนั้น
พวกรูปพรหม เขามี “อวิชชา” คือหลงคิดปรุงแต่งยึดถือจิตใจ หรือวิญญาณเป็นตัวเรา เป็นของเรามาตั้งแต่แรก
แล้วเอาตัวเรามาปรุงแต่งสร้างอารมณ์ฌาน เป็นรูปฌาน 4 ได้แก่ วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ จนเป็นวสี คือมีความชำนาญในการเข้าฌาน ทรงอารมณ์ฌานแต่ละฌาน ใช้ความสามารถต่างๆ ของฌาน พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงและรอยต่อของแต่ละอารมณ์ฌาน ออกจากรูปฌาน
แม้มีวสีในฌาน ถ้าเป็นปุถุชนเรียกฌานนั้นว่า “โลกียฌาน” แต่เมื่อมีวสีในฌาน จึงมีความสามารถที่จะตายในอารมณ์ของรูปฌาน แล้วไปเกิดในรูปพรหม
เมื่อตายจากรูปพรหม ก็มีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิ เช่น สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรกได้ เพราะยังไม่บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป ซึ่งปิดอบายภูมิแล้ว
ส่วนพวกอรูปพรหม ก็มีความชำนาญ (วสี) ในการเข้าฌานต่อจากรูปฌานอีก 4 ขั้น คือ
อากาสานัญจายตนะ
วิญญาณัญจายตนะ
อากิญจัญญายตนะ
เนวสัญญานาสัญญายตนะ
แล้วตายในอรูปฌาน ก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม แต่ถ้ายังไม่บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป เมื่อตายจากอรูปพรหม ก็ไปเกิดในอบายภูมิได้
ส่วนพวกที่มโนความว่างขึ้นมาเอง แล้วยึดความว่างนั้นไว้ พวกนี้ไม่ได้เป็นสมถกรรมฐาน และวิปัสนากรรมฐาน คงเป็นแต่กิเลส ตัณหา หรืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือปรุงแต่งยึดถือเป็นตัวเรา มโนสร้างความรู้สึกว่างขึ้นมาแล้วยึดความรู้สึกว่าง หนีความจริง หนีความทุกข์ หนีความไม่สบายใจ ยังไม่ได้ปล่อยวางอะไร
ดังนั้น พวกนี้จึงแล้วแต่กรรมที่จะพาไปในขณะดับจิตสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไปอบายภูมิ
ส่วนพวกที่ปล่อยวางสังขารทั้งภายใน และภายนอก เพราะเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา จนสิ้นกิเลสไป 25% (ตัวเลขสมมติ) ก็บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบัน จะเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีกไม่เกิน 7 ชาติ
ส่วนพวกที่สิ้นยึดทั้งสังขาร และวิสังขารย่อม “นิพพาน”
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563