ผู้ถาม : กราบนมัสการค่ะ
กราบขอโอกาสค่ะ โยมได้ดูวิดีโอไซอิ๋ว (ตัวปลอมตัวจริง) เรื่องวานร 6 หู เปรียบเหมือนอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เจ้าวานร 6 หู มีหูที่ดี รู้เหตุผลรู้สรรพสิ่งรู้ก่อนหลัง ใครพูดอะไรรู้ได้หมด “รูป-เสียง” (ตัวปลอมในเรื่อง)
(ในเรื่อง) “ไม่มีตัวปลอม” เมื่ออายตนะไม่บริสุทธิ์ เห็นรูปแล้วขณะจิตที่มีโทสะ ความโกรธขาดสติ เพราะอวิชชาหลอมจนมีอวิชชาบังใจ (หรือจิตเดิมแท้)
มีในไม่มี ว่างในไม่ว่าง ไม่มีคือมี ไม่ว่างคือว่าง รูปคือรูป นามรูปเรียกขาน (เอาไว้สื่อสารกัน)
“มีในไม่มี” สิ่งรู้สึกว่ามี-ไม่มี, ว่าง-ไม่ว่าง, กราบขอโอกาสเมตตาค่ะ
“ไม่ว่างคือว่าง, ไร้รูปคือรูป” โยมเบาปัญญาไม่เข้าใจค่ะ ความโง่ (อวิชชา) ยึดในสิ่งที่ไม่มี
หลวงตา : “มีในไม่มี” หรือ “มี.. ไม่มี” คือ สิ่งที่มีทั้งหมด ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมดับไปเป็นธรรมดา มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนคงที่ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
“ว่างใน ไม่ว่าง” หรือ “ว่าง ไม่ว่าง” คือ ถ้ารู้สึกว่าง แสดงว่ามีความรู้สึกว่าเราว่างแล้ว เราถึงความว่างแล้ว หรือใจของเราว่าง จึงไม่ว่างจากมีตัวเรายึดความว่าง
“ไม่ว่าง คือ ว่าง” ไม่ว่าง หมายถึง สิ่งที่มี สิ่งที่มีทั้งหมด (สังขาร) มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นมาจากความว่าง เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็ต้องดับกลับคืนไปสู่ความว่าง ดังนั้น ไม่ว่าง คือ ว่าง
“ไม่มี คือ มี” คือ ความไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิงชาย เป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่มั่นคงเป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม อมตธาตุ อมตธรรม ธรรมธาตุ นิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ ไม่ถูกทำลาย ไม่เคลื่อนที่ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่หยุดนิ่ง นี่แหละคือที่สุดแห่งทุกข์
“ไร้รูป คือ รูป” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีนั้น มีอยู่จริง
*****เมื่อใจรู้แจ้งสัจธรรมความจริงดังกล่าว จึงสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นทั้งความมี และ ความว่าง ไม่มีตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ถึงซึ่งความ “ไม่มี” หรือ ไร้รูป คือไม่มีอะไรปรากฏ เป็นธรรมแท้ เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม อมตธาตุ อมตธรรม ธรรมธาตุ สุญญตา นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
ผู้ถาม : และตอนท้ายตัววานรเข้าไปตีฆ่าตัววานร 6 หู ทำไมพระพุทธยูไลห้ามไว้จึงกล่าวว่ามันเป็นบาป ตามที่โยมเข้าใจเสมือนมี (ตัว) ผู้รู้ เข้าไปทำลายจิตปรุงแต่งเพราะอวิชชาไม่รู้ความจริง รู้แก่ใจว่าจิตปรุงแต่งทุกตัวไม่มีตัวตน เค้าเกิดเองดับเองค่ะ
หลวงตา : “ตอนท้ายตัววานร เข้าไปตีฆ่าตัววานร 6 หู ทำไมพระพุทธยูไลห้ามไว้จึงกล่าวว่ามันเป็นบาปกรรม”
เหมือนกับผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็น “อวิชชา” คือ ไม่รู้ว่าจิตเดิมแท้ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติที่ไม่มีอะไรปรากฏ มีอยู่จริงตลอดกาล เพราะเป็นวิสังขารไม่เกิดดับ
แต่ผู้ปฏิบัติธรรมกลับพยายามฆ่าสังขารให้ตาย เพื่อให้เหลือแต่จิตเดิมแท้ จึงเป็นอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารกรรม สังขารกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณกรรมในปฏิจจสมุปบาท ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปรับผลกรรมในภพภูมิต่างๆ
ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม เกิด “วิชชา” หายโง่ก็จะเกิด “ญาณ” รู้แจ้งจากใจว่าไม่ต้องพยายามฆ่าสังขาร (เปรียบเหมือนพยายามฆ่าวานรตัวปลอม) เพื่อให้เหลือแต่วานรตัวจริง คือ จิตเดิมแท้ เพราะสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดเองดับเอง โดยไม่ต้องพยายามฆ่าสังขาร และผู้พยายามฆ่าสังขาร เพื่อให้เหลือแต่จิตเดิมแท้ (วิสังขาร) ก็จะเป็นอวิชชา เป็นสังขารตัวปลอมเรื่อยไปเพราะ “วิสังขาร” จะปรุงแต่งพยายามฆ่าสังขารไม่ได้
เพียงแต่รู้แจ้งจากใจ (ญาณ) ว่าอะไรจริงอะไรปลอมเท่านั้น เพราะของจริงย่อมไม่ปลอม ของปลอมย่อมไม่จริง เปรียบเหมือนของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้ (คิดปรุงแต่งได้) ของไม่จริง
“ตอนท้ายวานรตัวปลอมถูกฆ่าตาย เหลือแต่วานรตัวจริง” เป็นดังพุทธพจน์ที่ว่า
“เตสัง วูปะสะโม สุโข” ความระงับดับสังขารเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง
หรือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กล่าวในขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะว่า “ไม่สังขารก็มีธรรมที่มั่นคง นี่แหละคือองค์ธรรมเอกวิเวกจริง” หมายถึง สังขารตัวปลอมตายแล้ว จึงเหลือแต่วิสังขาร (ธรรมจริง)
ซึ่งสังขารจะตายสองครั้ง ครั้งแรกคือ สังขารที่หลงยึดเป็นตัวเราของเรา แล้วหลงเอาตัวเราไปยึดสังขาร และวิสังขารได้ตายจากใจ จะเป็น “สอุปาทิเสสนิพพาน”
ครั้งที่สองคือ ขันธ์ห้าตาย จะเป็น “อนุปาทิเสสนิพพาน” เหลือแต่จิต หรือใจเดิมแท้ หรือธาตุรู้แท้ เป็นวิสังขาร อมตธาตุเป็น “เอโกธัมโม หรือเอกะธัมโม หรือจิตหนึ่ง คือ พุทธะ”
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563