ผู้ถาม : กราบนมัสการค่ะหลวงตา
พิจารณาถึงอาการ ย่อมจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ไม่สงบหรือลุกโพลงนั้น จะต้องไหล ลุก และ เผาไหม้ เรื่อยไป จนกว่ามันจะซาลงและสงบ ส่วนสิ่งที่สงบย่อมตรงกันข้าม เช่น น้ำที่สงบย่อมไม่ไหล ลมที่สงบย่อมไม่พัดไป ไฟที่สงบย่อมไม่ลุก ดินที่สงบย่อมไม่มีการเผาไหม้ ดังนี้ เป็นต้น
อันนี้หมายความว่า การสิ้นตัวตน หรือ ตัดรากถอนโคนอวิชชา หมดไปได้หรือเปล่าคะจึงเป็นความสงบแท้ เช่น ไฟที่สงบย่อมไม่ลุก คือ ถ้าไฟยังมีเชื้อหลงอยู่ก็สามารถลุกได้
กราบขอบพระคุณค่ะ
หลวงตา : ไม่ใช่สงบอย่างนี้ ที่ยกตัวอย่าง เช่น น้ำที่สงบย่อมไม่ไหล ลมที่สงบย่อมไม่พัด ไฟที่สงบย่อมไม่ลุก ดินที่สงบย่อมไม่มีการเผาไหม้.... เป็นต้น มันจะเหมือนกับอาการของใจสงบย่อมไม่เคลื่อนไหว
อย่างที่ยกตัวอย่างมานั้น รวมทั้งอาการของใจสงบย่อมไม่เคลื่อนไหว มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกในปัจจุบันขณะเท่านั้น ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันจึงเป็นทุกข์ที่ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง ไม่อาจจะบังคับให้คงที่ตลอดไปได้
เมื่อใจรู้เห็นและยอมรับตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้ จึงสิ้นยึดถือ หรือ สิ้นผู้เสวย คือ สิ้นตัณหาที่ฝืนความจริง
ซึ่งถ้ามีตัณหา เมื่อมีความสงบก็อยากให้สงบตลอดไป หรือไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว จึงปฏิบัติผิดพลาดด้วยการหลอกลวงตนเองว่าอยู่ในความสงบ แต่แท้จริงไม่ยอมรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไป
ครั้นมีอาการความเคลื่อนไหว หรือไม่สงบ ก็มีตัณหาอยากให้สงบ จึงมีความพยายามดิ้นรนผลักไส หรือ หงุดหงิดกับสภาวะที่เคลื่อนไหวหรือไม่สงบ เมื่อทำไม่ได้อย่างใจ จึงมีการสะกดจิตตัวเองให้นิ่งเฉย
ที่ถูกต้อง ยอมรับตามความเป็นจริงอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน อย่างที่รู้ในปัจจุบันขณะ (ยถาภูตญาณทัสสนะ) จึงจะสิ้นยึด สิ้นผู้เสวย พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2563