ผู้ถาม : ขออนุญาตกราบเรียนการบ้านหลวงตาเจ้าค่ะ เมื่อคืนหนูทำความเข้าใจมานะแล้ว และพอจะนึกความรู้สึกตอนเกิดมานะได้ (ความรู้สึกมันจะแข็ง ๆ ในใจ แล้วก็ชอบคอยเปรียบเทียบธรรมที่หนูเข้าใจหรือเคยได้ยินอยู่เรื่อยน่ะค่ะ คือมันจะคอยอยากรู้ว่า "เขา"รู้ธรรมเห็นธรรมอะไร "เรา"เห็นสิ่งนั้นหรือยัง) พบว่าจริง ๆ แล้ว มานะก็มีมานานแล้วแต่ไม่ค่อยสังเกตเห็นเจ้าค่ะ
หนูขอเปรียบเทียบว่ามันคือฝาโอ่งเจ้าค่ะ
ถ้ามี "มานะ" ขณะฟังธรรม เหมือนฝนตกลงโอ่งที่มีฝาปิดอยู่ มันจะกั้น/จะขวาง/จะบังธรรมที่จะไหลเข้าสู่ใจเจ้าค่ะ (ทั้งที่อยู่ตรงหน้าแท้ ๆ)
หลังจากนั้นกลับไปเปิดไฟล์แรก ๆ ของคุณยายหมอฟังใหม่ ความเข้าใจคนละเรื่องกับที่ฟังครั้งแรกเลยเจ้าค่ะ รวมทั้งไฟล์ที่คุณยายหมอเมตตาสอน (ลูกศิษย์ท่านอื่น) สิ่งที่ท่านสอนมันช่างเรียบง่ายแต่ชัดเจนเหลือเกินเจ้าค่ะ ถ้าเห็นตามได้ในขณะที่ฟังจะสิ้นสงสัยในเรื่องที่คุณยายหมอท่านสอนเลยค่ะ (กราบขอบพระคุณคุณยายหมอมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)
ปล. หนูสมาทานเนสัชชิกไว้เจ็ดวันเจ็ดคืนเจ้าค่ะ ตอนนี้พึ่งผ่านไปสองคืน มีช่วงที่ง่วงจนนั่งหลับและ ร่างกายเพลีย ๆ ระหว่างวันบ้าง แต่สมาธิก็แจ่มใสดีเจ้าค่ะ หนูกำลังศึกษาอยู่ว่าตอนเริ่มมีความง่วงมันจะเกิดตอนไหน เพราะอะไร เริ่มสังเกตได้ว่า จิตไปยึดไปเกาะความโล่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ก่อน แล้วพอหนัก ๆ เข้าก็จะง่วง
ปล. 2 แต่พอไม่ได้นอนกิเลสก็ไปออกเรื่องกินแทนเจ้าค่ะหลวงตา
หลวงตา : สังโยชน์ทั้งสิบตัว จนถึงตัวที่ 8,9,10 คือมานะ ฟุ้งซ่าน อวิชชา ล้วนเกิดจาก “อวิชชา” ความโง่เขลา ไม่รู้สัจธรรมเป็นเหตุ
ต่อเมื่อรู้แจ้งสัจธรรม (วิชชา) ว่า “ความจริงไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัวเรามาตั้งแต่แรก” จึงหายโง่ (อวิชชาดับ)
***** “อวิชชา” ดับไปเพราะหายโง่
หายโง่ก็เพราะรู้แจ้ง “สัจธรรม”
จึงต้องใช้ “ธรรม” อบรมจิตให้รู้แจ้งสัจธรรม “อวิชชา” จึงจะดับ
*****ความจริงของสัจธรรม “จิต” นั้นเองเขาเป็นธรรมอยู่แล้ว
เพราะเขาเป็นอสังขตธรรม สุญญตาธรรมมาตั้งแต่แรก
ซึ่งไม่มีตัวจิต ไม่มีตัวเรา ไม่มีอวิชชา ไม่มีวิชชา ไม่มีผู้โง่ ไม่มีผู้ฉลาด ไม่มีผู้ยึด ไม่มีผู้ปล่อยวาง ไม่มีผู้สุข ไม่มีผู้ทุกข์
ไม่มีผู้นิพพาน
แต่เพราะความไม่รู้ ความเขลา ความโง่ ความมืดบอด .... ซึ่งภาษาสมมติเรียกว่า “อวิชชา” จึงมีความเห็นผิด หลงผิดไปจากสัจธรรมความจริง จึงต้องเอาธรรมมาอบรมจิตให้หายโง่
ดังนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่การพยายามเอาตัวเราไปดับความเป็นตัวเรา เพื่อให้สิ้นความเป็นตัวเรา หรือ
พยายามเอาตัวเราไปดับอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน
เพราะอยากได้ อยากถึง อยากเป็น
อยากบรรลุนิพพาน แล้วตัวเราจะบรรลุนิพพาน
อย่างนี้ก็จะยิ่งเป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และความทุกข์มากยิ่งขึ้น
“อวิชชาดับ ก็สิ้นยึด
สิ้นยึด ก็สิ้นกิเลส สิ้นทุกข์ใจ”
“สัจธรรม” ความยึดถือก็ไม่สามารถยึดถือได้จริง
เพราะทุกสรรพสิ่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกสรรพสิ่งรวมทั้งสังขาร และ วิสังขาร
แต่ “สังขาร” เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ส่วน “วิสังขาร” เป็น อนัตตา หรือ สุญญตา
*****สิ่งที่ถูกยึดถือก็ไม่ใช่ของจริง ผู้ยึดถือก็ไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสมมติ
“สิ้นยึด ก็สิ้นทุกข์ใจ (นิพพาน)”
กล่าวได้ว่า “นิพพาน เพราะหายโง่”
ปุจฉาวิสัชชาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563