ผู้ถาม : กราบหลวงตาค่ะ "เอาธรรมมาอบรมธรรม รู้ธรรมในธรรม เอาธรรมชาติมาปฏิบัติธรรมชาติ ให้รู้ธรรมชาติในธรรมชาติ" หมายถึง เห็นว่าธรรมในจิตเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมชาติของเค้าอย่างนั้น ใช่หรือเปล่าคะ "เอาธาตุปฏิบัติธาตุ ให้รู้ธาตุในธาตุ" หมายความว่าอย่างไรคะ รบกวนหลวงตาสอนด้วยค่ะ
หลวงตา : เอาธรรมมาอบรมธรรม รู้ธรรมในธรรม หมายถึงว่า ธรรมชาติของร่างกายจิตใจ หรือขันธ์ 5 ซึ่งเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีแล้วหายไปเป็นธรรมดา ไม่อาจคงทนอยู่สภาพเดิมได้ เกิดขึ้นมาจากความไม่มีแต่เดิม ก็ต้องเสื่อมสลาย หรือดับกลับคืนไปสู่ความไม่มีตามเดิม จึงไม่มีตัวมีตนคงที่ เมื่อไม่มีตัวตนคงที่ จึงไม่ใช่ตัวเรา หรือไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่าไปหลงยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
ส่วนเอาธาตุปฏิบัติธาตุ ให้รู้ธาตุในธาตุนั้น หมายถึงว่า ให้พิจารณาเห็นว่า ร่างกายจิตใจหรือขันธ์ 5 ประกอบไปด้วยธาตุดิน คือสเปิร์มของพ่อ ผสมกับธาตุน้ำ ซึ่งเป็นไข่ของแม่ ตั้งแต่แรก หลังจากนั้น แม่ก็กินซากพืชซากสัตว์ ซึ่งเป็นธาตุดิน กินน้ำกินลมกินไฟ หยดเลือดจึงโตขึ้น แล้วธาตุรู้ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นความว่างเปล่า เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือจักรวาล แต่มีความรู้อยู่ในตัวมันเอง มาเข้าผสมอีกธาตุหนึ่ง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นของใช้สิ้นเปลือง ต้องกินเติมเข้าไปอยู่ตลอดเวลา มีเพียงธาตุรู้เท่านั้น ที่ ไม่มีการเสื่อม ไม่สิ้นเปลือง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่แตกทำลาย ไม่มีอะไรปรากฏ การปฏิบัติก็คือ ให้เข้าถึงธาตุรู้ ที่ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิดปรุงแต่งหรือแสดงอาการใดใดได้ เป็นเพียงความว่างเปล่า ที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือจักรวาล แต่มีความรู้อยู่ในตัวเอง คือรู้ว่า มันไม่สามารถที่จะแสดงกริยาอาการอะไรได้ ไม่มีตัวตน ไม่ปรากฏอะไรเลย ส่วนที่มีรูปร่าง ตัวตน มีความคิดปรุงแต่ง หรือมีอารมณ์ต่างๆ หรือแสดงกริยาอาการต่างๆ ทุกขณะปัจจุบันนั้น ไม่ใช่มัน
ดังนั้น ถ้าเข้าถึงธาตุรู้ เมื่อทุกขณะที่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกขณะปัจจุบัน ก็จะไม่หลงเอารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่มีรูปร่างหรือมีอาการ ให้สัมผัส หรือรับรู้ได้นั้น มาเป็นธาตุรู้
ธาตุรู้ หรือ ใจ จึงเป็นแต่ ความว่างเปล่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือจักรวาลที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปร่าง ไม่อาจคิดปรุงแต่งหรือแสดงกริยาอาการ หรืออารมณ์ต่างๆ ได้เลย
เมื่อใจหรือธาตุรู้เป็นความว่าง หนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จึงไม่มีความทุกข์เดือดร้อนอะไรอีกต่อไป ภาษาสมมติเรียกว่า นิพพาน หรือพ้นจากทุกข์
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560