ผู้ถาม 1 : ผมเข้าใจว่าถ้ารู้ซื่อ ๆ จิตจะเป็นกลางกับกิเลส แล้วจะเห็นเองว่ากิเลสมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ จะเห็นไตรลักษณ์ ครับ
ผู้ถาม 2 : ความเห็นที่ 2 เจ้าค่ะ
ทุกข์ให้ “รู้” สมุทัยให้ “ละ”
กิเลสเป็นสมุทัย จึงต้อง “ละ” กิเลส
แต่การ “ละ” นั้นทำอย่างไรเล่า ?
เราจะบังคับกดข่มให้กิเลสมันหายไปเช่นนั้นหรือ ?
หรือเราจะ “ละ” ด้วยการดูมันอย่างซื่อ ๆ จนมันดับไปเอง
ถ้าเราคิดจะ “ละ” ด้วยการบังคับกดข่ม สิ่งที่จะต้องมีคือตัวประธานที่จะเป็นผู้ทำการ “ละ” นี้ นั่นคือต้องมี “ตัวเรา” ถ้า “ละ” ด้วยการดูเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ ก็ไม่ต้องทำกรรมอะไร ไม่ต้องมีประธาน ไม่ต้องมีเรา
โปรดพิจารณา
หลวงตา : ถ้ารู้ได้เฉย ๆ หรือสักแต่ว่ารู้ แสดงว่าไม่จมไปกับความคิดและอารมณ์ จนเป็นกิเลสและความทุกข์
ถ้ารู้แล้ว แต่ยังจมอยู่กับกิเลสและความทุกข์ แสดงว่าหลงมีตัวเราไปยึดถือ
ถ้าหลงยึดถือ อย่างนี้ต้องทำอย่างไรให้หลุดจากที่ไปจมอยู่ในความคิดและอารมณ์ทันที จะรู้อยู่เฉย ๆ ไม่ได้
แต่ถ้าแค่รู้ หรือ รู้ซื่อ ๆ หรือ สักแต่ว่ารู้ แล้วไม่หลงมีตัวตนของเราเข้าไปติดหรือไปยึดถือสิ่งใด แสดงว่าเป็นผู้มีสติ ปัญญาอย่างแท้จริง อย่างนี้ ก็อยู่กับรู้ หรือแค่รู้
ไม่ต้องพยายามทำอะไร เพราะมันจะเป็นหลงดิ้นรนผลักไส
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560