ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ จากธรรมหลวงปู่หล้า ท่านบอกว่า ไม่หนักในอานาปานสติ เจตสิก ผู้รู้ ในขณะเดียวกันแล้ว จะเห็นจริงได้ยาก จากที่หลวงตาสอน ว่าแค่รู้ กับที่หลวงปู่หล้าท่านกล่าวไว้ ต่างกันอย่างไรเจ้าคะ ขอหลวงตาโปรดเมตตาแจกแจงให้เข้าใจหน่อยเจ้าค่ะ
หลวงตา : มีสติสักแต่ว่ารู้ “กาย” คือ ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับ “จิตหรือวิญญาณขันธ์ที่มีเจตสิกเข้าประกอบทุกดวงในปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นอาการของจิตหรืออาการของใจ”
โดยไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือทั้งกายและจิตหรืออาการของจิต ซึ่งเป็น “สังขาร”
และรู้แก่ใจว่าไม่มีผู้ยึดถือทั้ง “ผู้รู้” และ สิ่งที่ถูกรู้ คือ ลมหายใจ ซึ่งเป็นกาย และ จิต ซึ่งเป็นอาการของจิต *****ในขณะจิตเดียวกัน
จึงจะเป็นนิพพานธาตุเป็นขณะจิตปัจจุบัน
ให้ดูที่โพสต์มาแล้วนี้ (ประวัติพระพาหิยทารุจิรยะคัดมาบางส่วนพาหิยะสูตร) เอามาพิจารณาประกอบด้วย
ผู้ถาม : เจ้าค่ะหลวงตา แต่ที่หนูสงสัยคือต้องดูลมหายใจด้วยหรือเจ้าคะ มันเหมือนมีตัวเราไปทำ จงใจตั้งใจเจ้าค่ะ
หลวงตา : การเพียรฝึกสติสักแต่ว่ารู้ ลมหายใจ (กาย) พร้อมกับ จิตหรืออาการของจิต ก็เพื่อ
- เป็นการคานอำนาจไม่ให้หลงไปจับยึดกาย กับ จิต เหมือนกับให้มีตาชั่งที่มีคานสองจานเพื่อความสมดุลย์
- เมื่อไม่หลงจับไปจับยึดกาย และ จิต พร้อมกันในขณะจิตเดียว โดยสักแต่ว่ารู้ได้ทั้งกายและจิต (ไม่หลงยึดถือผู้รู้ด้วย)
ก็จะเป็นนิพพานธาตุเป็นขณะจิตไป
แต่สำหรับผู้ที่อยู่กับ “รู้” ที่เป็น “พุทธะ” คือ รู้จริง รู้แจ้ง รู้สิ้นหลง รู้สิ้นยึด รู้ตื่น รู้เบิกบาน รู้พ้น แล้ว ท่านก็อยู่กับ “รู้” โดยไม่ต้องเพียรฝึกสักแต่ว่ารู้ลมหายใจ (กาย) และจิต อีก
ผู้ถาม : แล้วการฝึกสติรู้ลมหายใจ ต้องรู้ละเอียดไหมเจ้าคะ ว่าเข้าหรือออก หรือแค่รู้ว่ามีลม
หลวงตา : “ลมหายใจ” ก็สักแต่ว่ารู้ลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออก ทั้งลมหยาบ ลมละเอียดปานกลาง ลมละเอียดมาก ๆๆ .. ยิ่งขึ้นไป บางขณะอาจละเอียดจนเหมือนกับไม่มีลมหายใจเข้าออกเลย
โดยสักแต่ว่ารู้ แต่ถึงแม้ลมหายใจจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จนถึงกับไม่มีลมเข้าออก
ก็ “สักแต่ว่ารู้ทุกปัจจุบันขณะ”
ในขณะจิตเดียวกัน ก็สักแต่ว่ารู้ “จิตหรืออาการของจิต” ตั้งแต่หยาบ ปานกลาง ละเอียด ละเอียดมาก ๆๆ … จนถึงขั้นสงบ ในทุกปัจจุบันขณะ
จะไม่ปรากฏอาการหรือตัวตนของผู้รู้ จึงไม่มีผู้ตามรู้ลมหายใจเข้าออก และ ไม่มีผู้ตามรู้จิตเคลื่อนไหว
ถ้าปรากฏอาการหรือตัวตนของผู้รู้ นั่น คือ จิตตสังขารหรือ สิ่งปรุงแต่ง ที่ต้องถูกปล่อยวาง
ผู้ถาม : ถ้าต้องรู้ว่าขณะจิตนี้ลมเข้า ขณะจิตนี้ลมออก ก็จะดูเหมือนกัดติด จดจ่อดี แต่ยิ่งทำให้มีตัวเราไปทำทุกขณะจิต กราบขอบพระคุณหลวงตาที่ได้เมตตาแจกแจงให้เข้าใจยิ่งขึ้นเจ้าค่ะ
(หนูว่าการมีครบทั้ง 3 อานาปานสติ เจตสิกและผู้รู้ ตามที่หลวงปู่หล้ากล่าวไว้นั้นช่วยให้ไม่หลงไปเหมอเผลอเพลินได้เป็นอย่างดีที่สุดเจ้าค่ะ) เจ้าค่ะหลวงตา ที่สำคัญคือ ต้องสักแต่ว่ารู้จริง ๆ
หลวงตา : สาธุ ไม่ต้องกลัวว่า “มันเหมือนมีตัวเราไปทำ จงใจตั้งใจทำทุกขณะจิต” ขอให้รู้แก่ใจว่าอาการมีตัวเราไปจงใจ เจตนา พยายาม ตั้งใจเป็นผู้กระทำ หรือ เป็นผู้รู้ทุกขณะจิตนั้น เป็น “จิตตสังขาร” คือ ความปรุงแต่ง รวมทั้งความกลัวนั้นด้วย เมื่อเห็นว่าเขาเป็นสังขาร ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใจก็จะไม่หลงยึดถือเขาเอง
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561