ผู้ถาม : หลวงตาเจ้าคะ เวลาที่เรามีเวทนา (ปวดหัว) แล้วเรารู้สึกไม่พอใจในเวทนานั้น โยมก็มาดูที่ใจที่ตรงกลางลิ้นปี่ มันไม่ทุรนทุรายนะคะ แต่โยมรู้สึกหงุดหงิดมากรู้สึกตรงหัว อยากตะโกนดัง ๆ ในหัวเจ้าค่ะ ถ้ามาดูตรงลิ้นปี่นิ่ง ๆ หรือทำงานอื่น ๆ ไป อาการจะเบาลง แต่ถ้าโยมจับตรงเวทนามันจะปวดหัวมากขึ้น ๆ เหมือนจิตเขายึดอยู่ตรงหน้าผากกับตรงที่ปวดหัวเจ้าค่ะ
หลวงตา : รู้ผิดที่ ผิดตัว ไปจับแต่อาการ ซึ่งเป็นธรรมารมณ์ อยากจะให้หาย แต่ไม่เห็น “ผู้รู้” อาการของธรรมารมณ์หรือเวทนา ให้อ่านพิจารณาบทความ เรื่อง “การฝึกจิต” กับ “อ่านใจตัวเองให้ขาด” ก็จะรู้ว่าปฏิบัติผิด รู้ผิดตัว
“การฝึกจิต”
“อุบายการภาวนา” “พุทโธ” หรือ รู้ลมหายใจเข้าออก ควบคู่ไปกับการสังเกตเห็นจิตผู้ภาวนา จะทำให้ไม่ขาดสติ หลงเหม่อเผลอเพลินคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน
“รู้ต้นจิตจิตต้นพ้นโหยหวน รู้ปลายจิตผิดทันที”.......... (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
“ความคิด” ไม่ใช่ “จิตผู้รู้”
ความคิดถึงสิ่งใดเป็นเพียง “ธรรมารมณ์” และ ถ้าขาดสติหลงไปตามความคิดนี้ จะเป็นการหลงส่งจิตออกนอก ซึ่งเป็นสมุทัย คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
แต่การเพียรรู้เท่าทันจิต เพื่อไม่ให้จิตไปคิดถึงสิ่งใด ให้สงบนิ่งเฉยนี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ผิดธรรมชาติมหันต์ เพราะจะเป็นการสะกดจิตที่จะคิดนึกตรึกตรองตามปกติธรรมชาติ ที่จะต้องมีการหมั่นสังเกต ศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ทำได้ ใช้เป็น จึงจะเป็นคนฉลาดทันโลกทันเหตุการณ์ รู้ดี รู้ชัว รู้บุญ รู้บาป รู้กุศล รู้อกุศล รู้อะไรควรไม่ควรแก่กาละ เทศะ บุคคล โอกาส สถานที่
ที่ถูก จะต้องเพียรฝึกให้มี “สติ สมาธิ ปัญญา” รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยการสังเกตที่ “จิต หรือ วิญญาณขันธ์ หรือ ผู้รู้” ซึ่งทำหน้าที่รู้อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แล้ว มีเจตสิก คือ เวทนา สัญญา สังขาร ประกอบจิตหรือวิญญาณขันธ์ทุกดวง ดังนั้น จิตหรือวิญญาณขันธ์ หรือ ผู้รู้ จึงมีอาการต่าง ๆ ไปตามเจตสิกที่มาประกอบ แล้วดับไปเร็วมาก จึงเรียกว่า “ผู้รู้ตัวปลอม”
*** เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา สักแต่ว่ารู้ที่ผู้รู้ตัวปลอมตลอดเวลา ก็จะไม่หลงส่งจิตออกนอกติดไปกับสิ่งที่คิดถึง หรือ ไม่หลงเหม่อเผลอเพลินคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านไป
ไม่หลงส่งจิตออกนอกไปตามจิตที่คิดปรุงแต่ง
และจะต้องไม่พยายามไปห้ามเขาไม่ให้คิดนึกตรึกตรอง เพราะผู้พยายามจะไม่ให้คิดตรึกตรอง ก็หลงสังขาร คือ หลงปรุงแต่งเสียเอง
*** เพียงแค่สักแต่ว่า “รู้” ที่ผู้รู้ตัวปลอมในทุกปัจจุบันขณะเท่านั้น
*** ความพยายามจะดู รู้ เห็น หรือรู้เท่าทัน “จิต” เพื่อพยายามช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์ นั้น เป็นการหลงสังขารหรือหลงปรุงแต่ง
แต่ถ้ามีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทัน ก็เป็นการ “รู้จิตปรุงแต่ง” ที่ใกล้ถึง “ใจ” ที่เป็นต้นจิต เป็นธาตุรู้ หรือเป็นวิสังขาร
*** ส่วนผู้รู้ที่สักแต่ว่า “รู้” ผู้รู้ตัวปลอม หรือ รู้ต้นจิตปรุงแต่งที่แสดงอาการเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นในปัจจุบันขณะนั้น โดยไม่ปรากฏอาการของผู้รู้นั้น เป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ ที่เป็น “วิสังขาร” คือ ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีตัวตน และไม่มีอะไรปรากฏ
การรู้เท่าทัน “ปลายจิต” เป็นการรู้เห็นแต่อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
ดังนั้น ผู้ฝึกจิตจำนวนมาก ที่เกลียดทุกข์ รักสุข ดีรัก ชั่วชัง หรือ ติดแช่ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่สงบ นิ่ง เฉย โปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่าง และเกลียดอาการตรงกันข้าม จะหลงส่งจิตออกนอกไปหาธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก
การฝึกจิตด้วยการรู้เท่าทันจิตที่คิดไปถึงสิ่งใด แล้วคอยดึงจิตกลับมานั้น จึงเป็นเพียงการรู้ปลายจิต เท่านั้น
*** ไม่ใช่การรู้เท่าทันต้นจิตปรุงแต่ง หรือ ผู้รู้ตัวปลอม ซึ่งจะแสดงอาการ หรือ พฤติแห่งจิต เป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น ผู้พากษ์หรือพูดในใจ ผู้เข้าใจ ผู้รู้แจ้ง ผู้ปล่อยวาง
**** การเพียรฝึกสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยการสังเกตให้เห็น “ผู้รู้” ตัวปลอม จะได้ไม่หลงติดไปกับผู้รู้ตัวปลอม คือ
*** หลงเอาตัวเราเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ผู้รู้แจ้ง ผู้ปล่อยวาง ผู้ดิ้นรนค้นหา เพื่อให้ตัวเรานิพพาน โดยไม่ได้ปล่อยวางตัวเรา
*** เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา สังเกตเห็นผู้รู้ตัวปลอมทุกปัจจุบันขณะกระทบ
ก็จะไม่ขาดสติหลงเหม่อเผลอเพลินส่งจิตออกนอก ด้วยการหลงคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน หรือหลงส่งจิตออกนอกไปติดยึดกับอายนตะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ที่มากระทบในปัจจุบันขณะ
ดังนั้นในทุกปัจจุบันขณะกระทบ หากมีสติ สมาธิ ปัญญา รวมเป็นหนึ่ง ไม่หลงส่งจิตออกนอก ไม่สยบติดอยู่ภายใน ไม่หลงยึดติด ยึดถืออะไร ขณะจิตนั้นก็ไม่มี “อวิชชา” ก็จะสังเกตเห็นจิตปรุงแต่งเกิดดับในความไม่เกิดดับ (ใจหรือจิตเดิมแท้หรือธรรมธาตุ)
*** เมื่อไม่หลงยึดถือทั้งโลก และ ธรรม คือ ธรรมชาติฝ่าย “สังขาร”
และธรรมฝ่าย “วิสังขาร” คือ ใจหรือจิตเดิมแท้หรือธรรมธาตุที่ไม่เกิดดับ
*** ไม่ยึดถือแม้นิพพาน
.....ก็พ้นทุกข์........
---------------------------
“อ่านใจตนเองให้ขาด”
ผู้ปฎิบัติจำนวนมาก “อ่านใจตนเองไม่ขาด” ยังคงมีความเข้าใจด้วยความจำว่า เราไม่มี หาเป็นความจริงจากใจไม่ ด้วยความหลงยึดถือ ว่ามีเรา ตัวเรา ของเรา แอบแฝงในแต่ละขณะจิต จึงเป็นต้นเหตุของอวิชชาในแต่ละขณะจิต ที่เกิดดับ ต่อเนื่องกันจนดูเหมือนเป็นความจริง ที่ถูกสร้างเป็นเรื่องราวให้หลงยึดถือ และเป็นอวิชชาที่ติดอยู่ในใจมาข้ามภพข้ามชาติเสมอมา ความปรุงแต่งใด ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเสมือนว่าออกมาจากเรา มีตัวเราเป็นศูนย์กลางของความปรุงแต่งนั้น ๆ
เพราะมีเป้าหมายที่สร้างขึ้นไว้ในใจ เพื่อที่จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ หากมีความพยายามที่จะปล่อยวาง พยายามไม่ยึดถือ ก็ยังคงมีตัวเราเป็นผู้พยายาม เป็นผู้ปล่อยวางและเป็นผู้รองรับการกระทำนั้น ๆ แม้จะพยายามระลึกไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาที่ขยับที่เคลื่อนไหวในใจ หรือความรู้สึกที่เป็นตัวเรา เป็นเพียงสังขารปรุงแต่ง แค่รู้ ไม่ต้องไปทำอะไรกับอะไร มันเป็นสังขาร มันจะยึด มันจะหลง มันจะรู้จะไม่รู้ ก็เรื่องของมัน ก็ “แค่รู้” แค่เห็นไปตามความเป็นจริงแบบที่หลวงตาได้บอกสอนไว้
แต่ภายใต้การปล่อยวาง หรือ “แค่รู้” กลับมีตัวเราแอบแฝงในการกระทำนั้น เพื่อรองรับผล โดยไม่รู้ตัว หลงคิดว่าได้ปล่อยวางแล้ว ไม่ยึดถือแล้ว เราเป็นเพียงธรรมชาติ เราไม่มี แต่ ลึกลึก ในใจ ยังมีความยึดถือยังคงมีเศษเสี้ยวของความเป็นเราอยู่ …
จึงต้องอ่านใจตัวเองให้ขาด ..... ว่ามีเราหรือไม่
ให้เห็นจริงเป็นจริงที่ใจ ว่าตัวเรา หรือสังขารทั้งรูปและนามหรือผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ที่เกิดขึ้นทุกปัจจุบันขณะเป็นเพียงความปรุงแต่งชั่วขณะจิตที่เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่ความรู้ที่คู่สังขาร ก็เป็นสิ่งเกิดดับ ยึดถือไม่ได้
หากความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ยังเป็นเพียงความจำ ต้องเพียรศึกษา สังเกต กัดติดจดจ่อ เรียนรู้ทำความเข้าใจ หมั่นฟังธรรม ของพ่อแม่ครูอาจารย์ และของหลวงตาที่ได้เมตตาชี้แนะ
มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้ละ ปล่อยวาง ทุกปัจจุบันขณะ ต้องเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำ สร้างเหตุ สอนจิต พัฒนาไปตามขั้นตอนของปัญญาสาม (สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา) เพื่อเติมปัญญาให้จิตได้เรียนรู้ เข้าใจ รู้เห็นไปตามความเป็นจริง อย่างที่มันเป็น จนเกิดความเบื่อหน่าย และเห็นความจริงว่าสังขารทั้งหมดเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จิตจึงคลายความยึดถือของตัวจิตเองในที่สุด
เมื่อสิ้น อุปาทาน สิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น สิ้นผู้เสวย อย่างแท้จริง ก็เป็นความรู้ที่ออกมาจากใจ เป็นรู้คู่ใจ เป็นรู้ที่เป็นปัญญาญาณ
ธรรมชาติของสังขารและวิสังขารก็ดำเนินของเค้าไปเอง หามีเรา ตัวเรา ของเรา แทรกอยู่ในส่วนใดไม่
ว่างเปล่าจากตัวตน
ว่างเปล่าจากผู้ยึดถืออะไรให้เป็นอะไร
สมมุติใด ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากความไม่มี ย่อมดับไปสู่ความไม่มีดังเดิม ธรรมชาติส่งคืนให้ธรรมชาติในที่สุดเสมอ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561