ผู้ถาม : ทีแรก หนูสงสัยว่า ความว่างเปล่าของจิตนี้เป็นหนึ่งเดียว หรือเช่นเดียวกับความว่างเปล่าของจักรวาลได้อย่างไร
เมื่อน้อมนำธรรมพิจารณา จึงเข้าใจว่า เมื่อใจรู้ว่าตัวมันเอง ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไม่ปรากฏอะไรเลย เช่นเดียวกับรู้ว่าทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง ทั้งในโลก นอกโลกนี้ ก็คือที่สุดมันคือความว่างเปล่า ไม่ใช่มัน มันจึงเป็นความว่างเปล่าไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับใจนี้ เต็มโลกธาตุคงเต็มเป็นแบบนี้ แม้แต่ชื่อสมมุติบัญญัติในตัวของมันเอง
หากทำความเห็นให้ชัดแจ้งตรงนี้แล้ว การเข้าถึงใจ ไม่ใช่อะไรที่ยุ่งยาก หรือยากเกินไป ตรงกันข้าม เอาเข้าจริง การไปอยู่กับสมมุติ วิ่ง วุ่นวาย ทำความเข้าใจสังขารต่างหากเป็นเรื่องยาก
พิจารณาช่วงสอง
เมื่อเข้าใจความว่างเปล่าของใจกับจักรวาลแล้ว มันจึงมีการรู้ หรือธรรมชาติแค่รู้เท่านั้น ตรงนี้หนูยังมีความยึดถือค่ะ ยังหลงว่าแค่รู้นี้ ต้องรู้แบบนี้ อย่างนี้ แท้จริงแล้ว มันบังคับเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมันคืออนัตตา อยู่เหนือการควบคุม
สุดท้ายก็กลับมา เข้าผู้รู้ปล่อยวางผู้รู้เหมือนเดิมค่ะ มันทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้ใช่ไหมคะหลวงตา มันคือมรรคก็รู้มันไปซื่อ ๆ
หลวงตา : ใจหรือธรรมชาติของธาตุรู้เขารู้จักใจของเขาดี เขาจึงได้แต่สักแต่ว่ารู้ทุกอย่าง คือ ไม่หลงผิดยึดถืออย่างอื่นใดมาเป็นใจ ไม่ว่าตัวเราทั้งตัวจะเป็นสังขารอย่างไรก็ตาม
ไม่ว่าจะว่าง ไม่ว่าง สงบ ไม่สงบ สุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง เป็นบุญ เป็นบาป เป็นกุศล อกุศล … ใจหรือธาตุรู้ตามธรรมชาติก็คงไม่ปรากฏอะไรเลย (แม้แต่ความรู้สึกว่าง)
ดังนั้น ไม่ใช่ตัวเราเป็นคนรู้ แต่ตัวเราทั้งตัวเป็นสังขาร (กายสังขาร วาจาสังขาร จิตตสังขาร) เป็นสิ่งที่ถูกปล่อยวางตลอดเวลา หรือมีอยู่อย่างเก้อ ๆ โดยไม่มีผู้เสวยหรือผู้ยึดถือเอามาเป็นเจ้าของ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561