ผู้ถาม : ให้มีสติ แต่ไม่ได้ให้รักษาสติใช่ไหมเจ้าคะ
หลวงตา : สติ คือ ความรู้ออกมาจากใจว่า “ใจ” หรือธาตุรู้ ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิดหรือปรุงแต่งแสดงอาการอย่างใดได้เลย
ส่วนที่คิดหรือปรุงแต่งแสดงอาการได้ เป็นสังขารปรุงแต่งทั้งหมด ไม่ใช่ “ใจ”
และรู้ว่าสังขารทุกขณะปัจจุบันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่เรา ตัวเรา หรือตัวตนของเรา คงปล่อยให้เขาเป็นอย่างที่เป็น ไม่มีผู้ยึดมั่นถือมั่น
“ความรู้” ว่าสังขารทุกขณะจิตปัจจุบัน ไม่มีผู้เสวย หรือผู้ยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละ คือ “สติ”
”สติ” หรือ “ความรู้” มีไว้ใช้ เพื่อรู้เห็นและยอมรับตามความเป็นจริง ตามที่กล่าวแล้ว
ไม่ใช่มัวแต่รักษาสติ แต่ไม่ได้มีสติมารู้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อความปล่อยวางจากความหลงยึดมั่นถือมั่น
เหมือนกับ สติ เป็นมีด มีไว้เพื่อใช้ทำกับข้าว ใช้หั่นผัก หั่นเนื้อ หรือ ฟันไม้ ไม่ใช่มัวแต่เฝ้ารักษามีด แต่ไม่นำมาใช้
การที่นำมีด เปรียบเหมือนกับ “สติ” มาใช้งานตลอดเวลา ก็เท่ากับมีมีดหรือมีสติอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมัวรักษามีดหรือสติ
ผู้ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงตาที่เมตตาเจ้าค่ะ
ให้มีสติรู้เห็นและยอมรับตามความเป็นจริงของสังขารและวิสังขาร เพื่อวางความหลงยึดมั่นถือมั่นทุกขณะปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ให้คอยรักษาสติเพราะการรักษาสติไว้ก็เป็นสังขาร หลงรักษาสติเพื่อจะให้มีสติมาก ๆ ก็เป็นการหลงไปกระทำอะไรให้เป็นอะไร เป็นการหลงไปเล่นกับสังขาร
ให้เพียงแค่ทุกขณะปัจจุบัน ให้หยุดความพยายามที่จะทำอะไรให้เป็นอะไร และมีสติ ... รู้เห็น ... ยอมรับ และปล่อยวางความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น โดยไม่มีผู้ยึดถือ ผู้จัดการ ผู้รับผล หรือผู้อื่น ๆ ใด ๆ เลยเจ้าค่ะ
น้อมกราบขอบพระคุณหลวงตาเจ้าค่ะ
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561