ผู้ถาม : กราบขอโอกาสเจ้าค่ะ ขอถวายการบ้านที่ได้จากการเดินจงกรมเมื่อคืนนี้ เป็นเพียงสักแต่ว่าอาศัยปรากฏการณ์ของสังขารวิบากที่แสดงตัวให้ได้พิจารณาเจ้าค่ะ หากตรงไหนคลาดเคลื่อนจากธรรม ยังประกอบไปด้วยความเห็นผิด หรือหลงผิด กราบขอองค์หลวงตาโปรดเมตตาชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ
หลง - มีสติรู้เท่าทัน - แค่รู้...สักแต่ว่ารู้ - อยู่กับรู้ - เป็นรู้
"หลง" คือ ส่งจิตออกนอก (ซ่านออกไปวุ่นวายกับสิ่งภายนอก หรือสยบติดอยู่กับอาการภายในใจ) ไปเพลิดเพลินยินดียินร้ายในกามคุณ หลงไปกับความคิด อารมณ์ ความรู้สึก อาการ สภาวะ ฯลฯ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา เรียกว่าหลงไปเป็นธรรมารมณ์ หรือ ไปเป็น "สิ่งที่ถูกรู้" เพราะไม่เห็นตัวเอง เข้าหาผู้รู้ไม่เป็น จึงหลงไปเป็น "สิ่งที่ถูกรู้" โดยไม่เห็น "ตัวเราผู้รู้"
"มีสติรู้เท่าทัน" คือ สามารถแยก "สิ่งที่ถูกรู้" กับ "จิตผู้รู้" คือ จิตตสังขารที่ทำหน้าที่รู้ "สิ่งที่ถูกรู้" ว่าเป็นคนละส่วนกัน ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน จิตส่วนจิต อารมณ์ส่วนอารมณ์ เห็นหรือรู้ออกมาจากใจว่า... เมื่อมีอาการ หรือปรากฏการณ์อันเกิดตามธรรมชาติของขันธ์ห้า (หรือ สิ่งที่ถูกรู้) ย่อมมี "ผู้รู้" ไปรับรู้ทุกครั้งไป นี่คือธรรมชาติของชีวิตหรือขันธ์ห้าที่จะดับได้ต่อเมื่อธาตุขันธ์แตกดับคือตายไปเท่านั้น...
ผู้รู้ที่แสดงอาการได้คือสังขาร (ผู้รู้ตัวปลอม) ส่วนผู้รู้ที่ไปรู้ผู้รู้ตัวปลอม และผู้รู้นั้นแสดงอาการใด ๆ ไม่ได้... ได้แต่รู้เฉย ๆ คือผู้รู้ตัวจริง หรือวิสังขาร หรือ ธาตุรู้ตามธรรมชาติ ซึ่งทั้งสังขารและวิสังขารต่างเป็นธรรมชาติ ที่ไม่อาจมี "ตัวเรา" เข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ ได้แต่แค่รับรู้ทุกอย่างไปตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นทุกปัจจุบันขณะ
การมีสติรู้เท่าทันในที่นี้ หมายถึง รู้เท่าทันว่าสิ่งใดที่ปรากฏให้รับรู้ได้ทั้งหมด สิ่งนั้นคือสังขาร และสังขารทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา พร้อมกันกับที่รู้เท่าทันสิ่งที่ถูกรู้นี้ ก็รับรู้ผู้รู้ (จิต หรือ วิญญาณขันธ์) ไปในตัว คือรู้ว่าทั้งสิ่งที่ถูกรู้และผู้รู้ต่างก็เป็นสังขาร
"แค่รู้... สักแต่ว่ารู้" คือ รู้ตามความเป็นจริงของธรรมชาติของธาตุรู้ ที่ไม่อาจแสดงอาการ กิริยาใด ๆ ได้ รับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในทุกปัจจุบันขณะ รู้อย่างไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง รู้ได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่มีอาการใดแทรกแซง รู้ซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีการปรับแต่งให้เป็นไปอย่างใจต้องการ รู้ทั้งสังขารและวิสังขาร และไม่มีผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เรียกว่าปล่อยวางไปในตัว
"อยู่กับรู้" คือ เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญารู้เท่าทันในขณะจิตใด (เรียกย่อ ๆ ว่า "มีสติรู้เท่าทัน") ขณะจิตนั้นก็ "อยู่กับรู้" แต่ถ้าขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาหลงไปในขณะจิตใด (เรียกย่อ ๆ ว่า "ขาดสติ") ขณะจิตนั้นก็ "ไม่อยู่กับรู้" หรือ "อยู่กับหลง" หรือ "เป็นหลง" (เรียกว่ารู้บ้าง หลงบ้าง จากที่หลงถี่ ๆ ก็ห่างลงๆ เรื่อย ๆ แทนที่ความหลงด้วยความรู้จากการที่จิตเข้าไปเห็นความจริง)
การอยู่กับรู้ก็คือ... "แค่รู้... สักแต่ว่ารู้" แต่เป็นการนำมาอธิบายในขั้นตอนการดำเนินจิตอย่างต่อเนื่องให้เห็นภาพว่า ทุกปัจจุบันขณะถ้าไม่ "ทิ้งรู้" หรือ มีสติรู้เท่าทัน... "แค่รู้... สักแต่ว่ารู้" ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก็จะ "อยู่กับรู้" ได้บ่อยขึ้น คือไม่ขาดวรรคขาดตอน... เหมือนเส้นประที่ค่อยลากจุดถี่ขึ้นๆๆ
จิตจะค่อย ๆ เห็นความจริงของความไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นได้มากขึ้น จากการที่เห็นสังขารปรุงแต่งเกิดดับในความไม่ปรุงแต่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความไม่มี สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับกลับคืนไปสู่ความไม่มี
ในขั้นนี้... พึงสังเกตสังขารอันละเอียดขึ้นคือ จิตตสังขารที่แสดงตนเป็น "ผู้รู้" มีอาการต่อจาก "รู้" ตามธรรมชาติที่ไม่อาจแสดงอาการได้ จากหยาบ ปานกลาง และละเอียดขึ้นตามลำดับ
เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา (คือการใช้สังขารในขันธ์ห้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการพิจารณาให้สิ้นหลงสังขาร คือหลงว่ามีตัวตนของเราอยู่จริง) สังเกตอยู่ในใจด้วยความสงบใจและต่อเนื่อง จะ "รู้" ได้เองว่า... สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นได้ มีขึ้นมาได้ มาประกอบ "รู้" แม้จะละเอียดปานใดก็ตาม สิ่งนั้นคือสังขาร มิใช่ "ธาตุรู้" และสิ่งนั้นต้องแปรปรวน แตกดับไปตามธรรมชาติ
ได้แต่แค่รู้ แค่เห็น และยอมรับทุกสิ่งอย่างที่มันเป็นด้วยใจแบบนี้ โดยไม่อาจ "กระทำ" อะไรได้เลย แม้จิตตสังขารที่ละเอียดขึ้นตามลำดับ แต่จะละเอียดสักเพียงใด หากมีอาการกระเพื่อม เคลื่อนไหว มีกิริยาให้รับรู้ได้นั่นคือสังขารทั้งหมด เมื่อเห็นสังขารละเอียด ๆ ขึ้นตามลำดับ แล้วไม่เข้าไปยึดถือคือปล่อยวางทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และตัวเราผู้รู้ไปทุกปัจจุบันขณะ
"เป็นรู้" คือ เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ รู้จริง รู้แจ้ง รู้พ้น รู้สิ้นยึด รู้สิ้นหลง รู้ตื่น รู้เบิกบาน เป็นธรรมธาตุ หรือ พุทธะ หรือ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไร้ตัวตน สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด... พ้นจากทุกข์โดยถาวรสิ้นเชิง
กว่าจะ "เป็นรู้" ได้ต้องอาศัยการทำเหตุจาก อยู่กับรู้, แค่รู้… สักแต่ว่ารู้ และ มีสติรู้เท่าทัน
ไม่ใช่มี "ตัวเรา" ไป "เป็นรู้"
แต่... "เป็นรู้" คือผลลัพธ์ของ "อยู่กับรู้"
ให้ต่อเนื่องไม่ขาดวรรคขาดตอน
จะ "อยู่กับรู้" ให้ต่อเนื่องได้... เกิดจาก
"แค่รู้... หรือ สักแต่ว่ารู้" ในทุกปัจจุบันขณะ
อาจกล่าวได้ว่า...
"เป็นรู้" คือผลลัพธ์ของ "แค่รู้... สักแต่ว่ารู้" ทุกปัจจุบันขณะ... นั่นเอง
ฉะนั้น... ในทุกปัจจุบันขณะ...
หากมี "สติรู้เท่าทัน"
ได้แต่ "แค่รู้" หรือ "สักแต่ว่ารู้"
อยู่กับรู้... เรื่อยไป
หากไม่ขาด "สติ"
ก็จะ "เป็นรู้" นั้นเอง...
หลวงตา : สาธุ ความเข้าใจทั้งหมดนี้ ดีมาก ๆๆ แต่ถึงอย่างไร เขาก็ยังหลงเป็นสังขารปรุงแต่ง หรือ หลงว่าตัวเราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ในที่สุดแอบปรารถนาว่ามีตัวเราจะพ้นทุกข์แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นสังขาร ปรุงแต่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หากไม่รู้เท่าทัน จะหลงเป็นสังขาร คือ หลงเอาสังขารเป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา มันจะเป็น “อวิชชา”
ต้องไม่หลงสังขาร ไม่ยึดถือสังขาร ไม่สังขาร หรือ เป็นวิสังขาร จึงจะเป็นธรรมแท้ที่ไม่เกิด ไม่ตาย พ้นจากทุกข์
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561