“ใจหรือจิตที่บริสุทธิ์” เป็นธรรมชาติของธาตุรู้ ธรรมธาตุ วิสังขาร มหาสุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ ที่รู้ตัวเรา (ขันธ์ห้า) หรือ กายสังขาร วาจาสังขาร จิตตสังขาร ตลอดเวลา ไม่ใช่เข้าใจผิด เอาตัวเรา (สังขาร) ไปรู้อาการของจิตใจ ซึ่งเป็นสังขารเหมือนกัน และ ไม่ใช่เข้าใจผิด เอาตัวเรา (สังขารหรือ ขันธ์ห้า) ไปรู้ “ใจ” หรือ “จิตที่บริสุทธิ์” ที่เป็น “วิสังขาร” ***** เมื่อธรรมชาติแท้ ๆ หรือ ธรรมแท้ของธาตุรู้ เป็นธรรมชาติที่รู้ตัวเรา ซึ่งเป็นขันธ์ห้า หรือ กายสังขาร วาจาสังขาร จิตตสังขาร ตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ว่าตัวเราจะแอบคิด พูด กระทำอย่างใดในที่ลับหรือที่แจ้ง แม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ไม่อาจรอดพ้นจากธาตุรู้ที่รู้ตัวเราตลอดเวลาได้เลย แม้ขันธ์ห้าจะตายแตกดับ เปลี่ยนร่างไปเป็นร่างอื่น ๆ ในภพต่อ ๆ ไป ส่วนที่เป็นธาตุรู้ไม่เกิด ไม่ตายแตกดับไปด้วย คงตามรู้ตัวเรา ซึ่งเป็น “สังขาร” ไปทุกชาติ แม้ “นิพพาน” คือ เป็นจิตหรือใจที่บริสุทธิ์ เพราะ “อวิชชา” ซึ่งเป็นเหมือนกาฝาก ดับไปโดยถาวรสิ้นเชิงแล้ว ส่วนที่เป็นจิตหรือใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิสังขาร หรือ ธรรมธาตุ หรือ อสังขตธาตุ หรือ นิพพานธาตุ หรือ มหาสุญญตาธาตุ ไม่ได้ดับสูญไป คงเป็น “อมตธาตุ” กลืนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างในธรรมชาติ เป็นอิสระ สันติ โดยไม่ไปอยู่ในร่างต่าง ๆ ในภพใดอีกต่อไป ***** ไม่อาจเอาสังขารไปรู้จิตหรือใจที่บริสุทธิ์แล้วได้ ***** “สติ สมาธิ ปัญญา” เป็นสังขารในขันธ์ห้า จะรู้เห็นได้สูงสุด คือ “อวิชชา” ที่ซ่อนเร้นอยู่กับใจหรือจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้น ซึ่ง “อวิชชา” ไม่ได้เป็นขันธ์ห้า เพียงแต่ติดมากับ ปฏิสนธิวิญญาณ (จิตบริสุทธิ์ + อวิชชา ) ที่มาเกิดรวมกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เกิดเป็นนามรูป ขันธ์ห้าขึ้นมา ดังนั้น ทุกปัจจุบันขณะ ที่มีการคิด การปรุงแต่ง การพูด การกระทำ จึงแสดงออกมาจากอัตตา (ความหลงยึดถือเป็นตัวตน เป็นเรา ตัวเรา ของเรา ) เพราะมีอวิชชาแอบแฝงอยู่ในจิตเดิมแท้ ไม่ได้ออกมาจากอนัตตา ***** จะต้องสิ้นความหลงยึดถือว่าขันธ์ห้า ซึ่งเป็นร่างกาย และ จิตใจ ว่าเป็นตัวตนของเรา “อวิชชา” จึงจะดับสนิท จิตหรือใจก็จะบริสุทธิ์ เมื่อจิตหรือใจบริสุทธิ์แล้ว การคิด การพูด การกระทำ ก็จะออกมาจากอนัตตา เพราะออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ ดังนั้น, จะต้องเพียรพิจารณาให้เห็นความจริงจากใจจริง ๆ ว่า ร่างกาย (รูป) และ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ไม่มีก้อน แก่น เป็นตัวตนคงที่ เป็นตัวเรา เป็นเรา เป็นของเราแม้เพียงน้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง สักปรมาณูหนึ่งเลย **** แม้ใน “ธาตุรู้” ที่เป็น “วิสังขาร” ก็เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมชาติสิ่งหนึ่งที่มีความรู้ในตัวเอง มันเป็นอิสระ สันติ ไม่ต้องอิง หรือ พึ่งพาขันธ์ห้าหรือสิ่งใด ไม่มีตัวตนของเราอยู่ในธาตุรู้ หรือ ธาตุรู้ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนั้น จึงไม่ใช่ตัวเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา ***** มันเป็นความรู้ของธาตุหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นของเรา ไม่ได้เป็นตัวเรา คงมีแต่ผู้ที่ยังมี “อวิชชา” คือ ความโง่เขลาไปหลงยึดมั่นถือมั่นเอาธรรมชาติที่มีความรู้ได้ในตัวเองนั้น มาเป็นตัวเรา หรือ มาเป็นของเรา เมื่อ “อวิชชา” ซึ่งเป็นความหลงโง่เขลาดับหมดสิ้นไป เพราะ เกิด “วิชชา” คือ ความรู้จริง รู้แจ้งจากใจตามความเป็นจริงว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” ธรรมทั้งมวล ทั้งที่เป็นสังขาร คือ ขันธ์ห้า ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดดับ และ ธาตุรู้ (วิสังขาร) ซึ่งเป็นธรรมชาติไม่เกิดดับ ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อัตตา) ไม่มีตัวเราอยู่ในสิ่งนั้น และ สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา หลังจากนั้น จิตหรือใจก็เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ (ไม่มีอวิชชา) เป็นนิพพานธาตุ คือ เป็นธรรมชาติที่มีแต่ความรู้บริสุทธิ์ ไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือให้เป็นทุกข์อีกต่อไป อย่างเป็นอมตะ ตลอดกาล โอวาทธรรมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562