“จิต (จิตเดิมแท้)” เป็นธาตุรู้ (วิญญาณธาตุ) ที่เป็นวิสังขาร... อสังขตธาตุ... อสังขตธรรม... สุญญตา
เป็นความว่างเหมือนกับความว่างอันไม่มีขอบเขตในธรรมชาติ หรือ ในจักรวาล แต่ความว่างในธรรมชาติ ไม่มีความรู้
ส่วน “ธาตุรู้” ซึ่งเป็นจิต หรือ ใจดั้งเดิมแท้ เป็นธาตุว่างที่มีความรู้ รู้ออกมาเองจากใจ โดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง จึงปรุงแต่งยึดถือไม่ได้ พยายามปล่อยวางไม่ได้ ปรุงแต่งทำให้เป็นรู้โดยไม่คิด นิ่ง เฉย ไม่ได้ (ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสัญญา หรือ ปัญญา ซึ่งเป็น “สังขาร” ไม่ใช่ความรู้สึกว่าง ซึ่งเป็นเวทนา และ ไม่ใช่ความว่างที่ปรุงแต่ง หรือ มโนเอาเอง)
ไม่มีรูปลักษณ์ หรือ กิริยา อาการใด จึงไม่มีความรู้สึกสุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง สว่าง มืด สงบ เงียบ สงัด นิ่ง เฉย ความรู้สึกว่างเปล่า ซึ่งเป็นเวทนาในขันธ์ห้า
ไม่ใช่สังขาร จึงไม่อาจคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่ง หรือ แสดงอาการ หรือ แสดงอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็น สัญญา สังขาร ในขันธ์ห้า และ ไม่ใช่ “วิญญาณขันธ์” ที่เกิดดับรับรู้ตามทวาร
เมื่อ “วิญญาณธาตุ” มารวมกับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง) เกิดเป็นขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสังขารเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ “วิญญาณธาตุ” เป็นความรู้ที่เป็นความว่าง จึงไม่เกิดดับไปตามขันธ์ห้า
ดังนั้น “วิญญาณธาตุ” แม้จะรวมกับธาตุอื่น ๆ เป็นขันธ์ห้า แต่ต่างหากจากขันธ์ห้า และ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ที่เกิดดับรับรู้ตามทวาร
~~~~~~~~~~~~~~~
“วิญญาณธาตุ” ไม่เกิดดับไปตามรูปนาม ขันธ์ห้า แล้วทำงานร่วมกับขันธ์ห้า โดยเฉพาะกับ “วิญญาณขันธ์” อย่างไร?
หรือ “วิญญาณธาตุ” กับ “วิญญาณขันธ์” มีหน้าที่ตามธรรมชาติแตกต่างกันอย่างไร?
~~~~~~~~~~~~~~~
ธาตุดิน - ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย และอวัยวะที่เป็นของแข็ง ทำหน้าที่ตามธรรมชาติแตกต่างกันไปตามอวัยวะต่าง ๆ
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุน้ำ - ทำหน้าที่เป็นน้ำเลือด น้ำลาย น้ำไขมัน น้ำเหงื่อ น้ำปัสสาวะ เป็นต้น
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุลม - ทำหน้าที่เป็นลมหายใจ ลมตด ลมเรอ ลมในท้อง ลมในไส้ เป็นต้น
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุไฟ - ทำหน้าที่ให้เกิดความร้อน ความอบอุ่น เผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน เป็นต้น
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุอากาศ (ความว่าง) - เป็นช่องว่าง เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวได้
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนของร่างกาย
เมื่อมี “วิญญาณธาตุ” เข้าผสมร่างกายนั้นจึงเกิดเป็นนาม คือ เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิด ความปรุงแต่ง อารมณ์ต่าง ๆ) วิญญาณ (การรับรู้ตามทวาร)
เวทนา - ทำหน้าที่เป็นความรู้สึก
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
สัญญา - ทำหน้าที่เป็นความจำ
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
สังขาร - ทำหน้าที่คิด นึก ตรึกตรอง ปรุงแต่ง แสดงอาการ หรือ อารมณ์ต่าง ๆ
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
วิญญาณ - ทำหน้าที่รับรู้ตามทวาร
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
จะเห็นได้ว่า ธาตุ ขันธ์ (รูป-นาม หรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) และอายตนะภายใน (ประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เขาทำหน้าที่ตามธรรมชาติของเขาเท่านั้น ไม่มีการยึด
ดังนั้น ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกิดจากธาตุต่าง ๆ มาผสมปรุงแต่งขึ้นมา จึงไม่ได้เป็น “อวิชชา” และ “นิพพาน”
ส่วนที่เป็น “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ หลงยึดจิตเป็นตัวเรา เป็นของเรา มีมาตั้งแต่กำเนิดจิตขึ้นมาในธรรมชาติ
แต่แม้จะยังหลงยึดจิตดั้งเดิมเป็นตัวเรา เป็นของเรา ซึ่งยังเป็นอวิชชาอยู่ก็ตาม แต่ธรรมชาติของ “จิตดั้งเดิม” ก็คงเป็นธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ สุญญตาธาตุ... ซึ่งเป็นธรรม หรือ ธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาล
เป็นความว่าง... ไม่มีตัว ไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนั่น เป็นนี่
ความไม่รู้ (อวิชชา) ใน “สัจธรรม” ความจริงดังกล่าว จึงไม่เห็นว่าความเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา หญิง ชาย เป็นนั่น เป็นนี่ เป็นเพียงสมมติ เป็นสังขารปรุงแต่ง มีอยู่ เป็นอยู่ชั่วคราว เกิดขึ้นแล้ว มีความไม่เที่ยง มีความเสื่อม มีความดับไปเป็นธรรมดา และ สังขารทั้งหมด ไม่มีอยู่ในจิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นวิสังขาร เป็นสุญญตา
เมื่อมี “อวิชชา” คือ ความไม่รู้สัจธรรมมีอยู่ในจิต ก็ต้องเอาธรรมมาอบรมจิต ให้เกิด “วิชชา” เป็นความรู้แจ้งขึ้นมา
ธรรมที่นำมาอบรมจิต เพื่อให้จิตได้รู้ความจริง ได้แก่
“การสัมพันธ์กันระหว่างธาตุ ขันธ์ห้า อายตนะ”
“ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจ ๔”
“สติปัฏฐาน ๔” คือ มีสติ ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นสัจธรรม ความจริงของกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพื่อให้รู้เห็นสัจธรรมความจริงด้วยใจว่า ทั้งหมดนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสาระแก่นสารเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้ ซึ่งตัวเราก็ไม่มี จิต หรือใจดั้งเดิมแท้ก็ไม่มีตัว เป็นความว่าง (ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย ความเป็นนั่น ความเป็นนี่)
“โพชฌงค์ ๗” ซึ่งเป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนให้ตรัสรู้ตาม ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์, ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมะวิจัย), วิริยสัมโพชฌงค์ (ความเพียร), ปีติสัมโพชฌงค์, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์, สมาธิสัมโพชฌงค์, อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
“พละ ๕ อินทรีย์ ๕” ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นกำลัง
”อิทธิบาท ๔” ได้แก่ ฉันทะ (ความสนใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (เอาใจใส่) วิมังสา (วิเคราะห์เหตุผล รู้เหตุแห่งความเสื่อม คือ ขาดสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร รู้เหตุแห่งความเจริญ รู้สัจธรรม รู้อริยสัจ หรือ ปฏิจจสมุปบาท) อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
“มรรค ๘” ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ การละเว้นจากอาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น
สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน ๔
สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน ๔
สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง)
มี “ขันติ” (ความอดทน อดกลั้น) ได้แก่ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ไม่คลุกคลีหมู่คณะ สำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่เอาเรื่องโลก ๆ มาสู่ใจ ทำความเพียรให้มาก ให้มีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
“สัมมัปปธาน” คือ ความเพียรชอบ ๔ ประการ ได้แก่
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
๓. ภาวนาปธาน เพียรอบรมเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดมีขึ้น
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งมั่นเจริญงอกงามไพบูลย์
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นสิ่งช่วยให้รู้แจ้งจากใจในสัจธรรม จาก “อวิชชา” เป็นความไม่รู้ กลายเป็น “วิชชา” ความรู้แจ้งจากใจขึ้นมาว่า ทุกสรรพสิ่งไม่มีอะไรที่มีตัวตน เป็นแก่นสารสาระให้ยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น (สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)
ความรู้สึกว่า “จิตมีตัว หรือ มีตัวจิต” จะเปรียบเหมือนกับเวลากลางวันเดินไปที่ตรงนั้นได้ แต่พอเวลากลางคืนไม่กล้าเดินไปที่ตรงนั้น เพราะรู้สึกว่ามีตัวผี แต่ความจริงตรงบริเวณนั้นไม่มีตัวผีอยู่เลย แต่หลงคิดปรุงแต่งว่ามีตัวผีจึงเกิดความกลัว เป็นทุกข์
ทำนองเดียวกัน จิต หรือ ใจ หรือ “ธาตุรู้เดิมแท้” ไม่มีตัว “ผู้ยึดจิต” ก็ไม่มีตัว “ความรู้” ก็ไม่มีตัวและรู้ออกมาจากใจที่เป็นความว่าง ไม่มีตัว
แต่เมื่อมี “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ หรือ ความโง่เขลา ก็จะหลงยึดจิตว่าเป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
“จิต” เป็นความไม่มีอะไรให้ยึดถือได้ ผู้ยึดก็ไม่มีตัว แต่หลงปรุงแต่งเป็นตัวเรา เป็นของเรา เหมือนกับบริเวณนั้นไม่มีอะไร (ไม่มีผี) แต่เพราะความไม่รู้ หรือ ความเขลา ก็หลงปรุงแต่งผีเป็นตัวตนขึ้นมา ในท่ามกลางความไม่มีอะไร หรือ ในท่ามกลางความว่าง จึงหลงมีตัวเรากลัวผี เป็นความทุกข์
ถ้าไม่หลงปรุงแต่งมีตัวเรา ก็จะไม่มีตัวเรากลัวผี ซึ่งเป็นความทุกข์ เช่นเดียวกัน จิตดั้งเดิม... “ไม่มีตัว” เป็นความว่าง แต่หลงปรุงแต่งมี "ตัวจิต" ขึ้นมาให้ยึดถือได้ จึงหลงยึดถือจิตเป็นตัวเรา เป็นของเรา
ความปรุงแต่งยึดถือจิตดั้งเดิมแท้ เป็นตัวเรา เป็นของเรา ซึ่งเป็น “อวิชชา” เป็นเพียงสังขารปรุงแต่ง เกิดดับอยู่ในจิตดั้งเดิมแท้ ซึ่งเป็น “วิสังขาร” เป็นธรรมชาติว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ารวมเป็นเนื้อเดียวกัน จะแยก “อวิชชา” ออกจากจิตเดิมแท้ไม่ได้
ดังนั้น “อวิชชา” จึงดับไปได้ โดยจะเหลือแต่จิตเดิมแท้บริสุทธิ์ (นิพพาน) ไม่เกิดดับ ว่างเปล่าจากตัวจิต ว่างเปล่าจากสังขารที่ยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา
ดังนั้น ขณะจิตใดเกิดปัญญาวิมุตติสว่างขึ้นที่ใจแล้ว ความหลง ความเขลา ความมืดบอด ความไม่รู้ ความโง่ ซึ่งเป็น “อวิชชา” ก็จะดับไป
เปรียบเหมือนความสว่างเกิดขึ้นที่ใจเพียงขณะจิตเดียว ความมืดบอดก็หายไป ฉะนั้น
ความจริงตัวตนของเราก็ไม่มีมาแต่แรกแล้ว ส่วนจิตเดิมแท้ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือได้
แต่เพราะความไม่รู้ หรือ ความโง่ จึงหลงยึดถือจิตดั้งเดิมแท้ที่ไม่มีอะไร เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงหลงมีตัวเรา มาตั้งแต่ชาติแรก
เมื่อหายโง่ (อวิชชาดับ) เพราะรู้แจ้งขึ้นที่ใจว่า มีเพียงจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) ที่ว่างเปล่าจากสังขาร ไม่มีตัวจิต และ ไม่มีตัวเรา ไม่มีสิ่งที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นได้ ทั้งตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มี จึงไม่มีผู้มีกิเลสและผู้ทุกข์ เรียกว่า “นิพพาน”
ดังนั้น ... ถ้ามีจิต (มีสิ่งที่ยึดถือได้) ก็มีอวิชชา
ไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา
กล่าวได้ว่า “นิพพาน” เพราะหายโง่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะรู้แจ้งว่า แท้จริงไม่มีตัวจิต ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา
ดังนั้น จึงไม่ได้มีตัวเราไปถึง ไปได้นิพพานมาเป็นของเราแต่อย่างใด
มีเพียงจิตหนึ่ง (เอโกธัมโม) เรียกว่า “พุทธะ”
ไม่ได้หมายถึงรูปกายของพระพุทธเจ้า แต่หมายถึง
เป็น “ผู้รู้” - รู้แจ้ง รู้สิ้นยึด รู้สิ้นหลง เพราะรู้สัจธรรม รู้อริยสัจ
“ผู้ตื่น” - ตื่นจากความหลับใหล หมายถึงอวิชชา ซึ่งเป็นความหลงมายาวนานตั้งแต่ชาติแรก
“ผู้เบิกบาน” - เพราะสิ้นยึด จึงสิ้นกิเลส สิ้นความเศร้าหมอง พ้นทุกข์ นิพพาน
เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุรู้บริสุทธิ์ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม ไม่เกิดดับตลอดกาล
“สัจธรรม” ความจริง คือ ไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัวเรา
สังโยชน์ทั้งสิบตัว จนถึงตัวที่ ๘, ๙, ๑๐ คือมานะ ฟุ้งซ่าน อวิชชา ล้วนเกิดจาก “อวิชชา” ความโง่เขลา ไม่รู้สัจธรรมเป็นเหตุ
ต่อเมื่อรู้แจ้งสัจธรรม (วิชชา) ว่า “ความจริงไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัวเรามาตั้งแต่แรก” จึงหายโง่ (อวิชชาดับ)
“อวิชชา” ดับไปเพราะหายโง่
หายโง่ก็เพราะรู้แจ้ง “สัจธรรม”
จึงต้องใช้ “ธรรม” อบรมจิตให้รู้แจ้งสัจธรรม “อวิชชา” จึงจะดับ
ความจริงของสัจธรรม “จิต” นั้นเองเขาเป็นธรรมอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นอสังขตธรรม สุญญตาธรรมมาตั้งแต่แรก
ซึ่งไม่มีตัวจิต ไม่มีตัวเรา ไม่มีอวิชชา ไม่มีวิชชา ไม่มีผู้โง่ ไม่มีผู้ฉลาด ไม่มีผู้ยึด ไม่มีผู้ปล่อยวาง ไม่มีผู้สุข ไม่มีผู้ทุกข์ ไม่มีผู้นิพพาน
แต่เพราะความไม่รู้ ความเขลา ความโง่ ความมืดบอด... ซึ่งภาษาสมมติเรียกว่า “อวิชชา” จึงมีความเห็นผิด หลงผิดไปจากสัจธรรมความจริง จึงต้องเอาธรรมมาอบรมจิตให้หายโง่
ดังนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่การพยายามเอาตัวเรา ไปดับความเป็นตัวเรา เพื่อให้สิ้นความเป็นตัวเรา หรือ พยายามเอาตัวเราไปดับอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน
เพราะอยากได้ อยากถึง อยากเป็น อยากบรรลุนิพพาน แล้วตัวเราจะบรรลุนิพพาน อย่างนี้ก็จะยิ่งเป็น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และความทุกข์มากยิ่งขึ้น
“อวิชชาดับ ก็สิ้นยึด ...
สิ้นยึด ก็สิ้นกิเลส สิ้นทุกข์ใจ”
“สัจธรรม” ความจริงทุกสรรพสิ่งไม่อาจยึดถือได้จริง
เพราะทุกสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกสรรพสิ่งรวมทั้งสังขาร และ วิสังขาร
แต่ “สังขาร” เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ส่วน “วิสังขาร” เป็น อนัตตา หรือ สุญญตา
สิ่งที่ถูกยึดถือก็ไม่ใช่ของจริง ผู้ยึดถือก็ไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสมมติ
“สิ้นยึด ก็สิ้นทุกข์ใจ (นิพพาน)”
กล่าวได้ว่า “นิพพาน เพราะหายโง่”
เนื่องจากรู้แจ้งในความจริงแห่ง “สัจธรรม” ว่า...
ไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัวเรา
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
บทสรุปจากใจ
“ธรรมแท้”
ไม่มีผู้ปฏิบัติธรรม
ไม่มีวิธีปฏิบัติธรรม
ไม่มีธรรมให้ปฏิบัติ
ไม่มีธรรมให้ถึง
ไม่มีผู้ถึงธรรม
ที่เรียกว่า “ธรรม”
ความจริงแท้ไม่มีธรรม
ความไม่มีธรรมนั่นแหละ เป็น “ธรรมแท้”
“ใจ” เป็นธรรมแท้แต่เดิมแล้ว
แต่พยายามดิ้นรนค้นหา อยากได้ อยากถึง อยากเป็น
อยากบรรลุเท่าไหร่ ไม่พบธรรม
หยุดดิ้นรนค้นหา หยุดอยาก ใจจึงเป็นธรรม
แต่อยากหยุด ไม่เป็นธรรม
พบธรรม แต่ยึดไม่ได้
ที่ยึดได้ ปรุงแต่งให้เป็นได้ ไม่ใช่ธรรม
“ธรรมแท้” เหมือนอยู่ใต้ตาจึงมองหาไม่เห็น
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรม (บางส่วน) จากหนังสือ “สัจธรรม”
ที่มา : หนังสือสัจธรรม หน้า ๔ - ๙ และบทส่งสรุปจากใจ หน้า ๕๗
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
อ่านและดาวน์โหลดหนังสือ “สัจธรรม” ที่เว็บไซต์ทางการ
http://www.luangtanarongsak.org/home/index.php/2017-10-14-13-19-49/2017-11-12-10-51-16/item/5390-2020-05-21-14-42-14
อ่านหนังสือ “สัจธรรม” ในรูปแบบ e-book
https://anyflip.com/wwhjd/dvtj/
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~