การพยายามหาวิธีแก้ไขอาการที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ถูกใจ ไม่ถูกใจ นั้นเพราะยังมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเรา โดยคาดหมายหรือแอบมีความปรารถนาไว้ในใจว่า “ตัวเรา” เมื่อไปดับกริยาอาการทางจิตที่ถูกใจ ไม่ถูกใจ ได้นั้น จะมี “ตัวเรา” โล่ง โปร่ง เบา สบาย เราจะได้ว่างเปล่า หรือ ใจของเราจะว่าง หรือ เราจะพ้นทุกข์ นิพพาน หรือ เราจะไม่เกลียดทุกข์ รักสุข ดีรัก ชั่วชังอีกต่อไป
จริง ๆ แล้วอาการทางใจที่เกิดขึ้นนั้นเป็น...
“ปฏิกิริยาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของขันธ์ห้าที่ตอบสนองกับการรับรู้ของอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ”
อาการเหล่านี้ไม่สามารถดับสนิทหรือดับขาดไปได้ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ !!!
ดังนั้นการพยายามหาหนทาง วิธีการต่าง ๆ เพื่อไปดับ ปรับปรุง แก้ไข ก็คือการที่เรากระโดดติดขบวนรถไฟ เข้าไปเป็น “สังขาร” นั่นเอง
ที่ถูกต้องนั้นให้เข้าใจว่า... อาการที่รับรู้ได้ ทั้งทางกาย ทางจิต ล้วนเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเท่านั้น เหมือนฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของมันเอง อาการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นอาการของขันธ์ห้าตามปกติธรรมชาติ ซึ่งเป็นนิสัยหรืออนุสัยที่ถูกสะสมมา
แม้กระทั่งถ้าสามารถหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ไข ดัดแปลง ปรุงแต่งอาการที่ไม่ชอบ จนอาการทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า “สังขาร” หมดไป หายไป แล้วพบกับสภาวะที่ดี ที่ถูกใจตามที่ต้องการ เช่น โล่ง โปร่ง เบา สบาย ว่างเปล่าก็ตาม ก็ยังไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ เพราะการกระทำเช่นนั้นยิ่งทำให้ความ “อยากได้” “อยากเอา” “อยากเป็น” เพิ่มขึ้น หรือไปยึดความโล่ง โปร่ง เบา สบาย ความว่างแทน ก็ยังไม่พ้น “หลงยึดถือสังขาร” ให้เป็นทุกข์อยู่ดี !!!
ความเข้าใจผิดว่า... ถ้าสามารถดับ “สังขาร” ได้หมดแล้วจะกลายเป็น “วิสังขาร” แล้วจะพ้นทุกข์ ทำให้หลายคนมีความดิ้นรน พยายามดับสังขารให้หมด
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว สังขารกับวิสังขารมันก็อยู่ร่วมกัน ที่เดียวกัน เพียงแต่ทำงานเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีใครสามารถดับ “สังขาร” ของขันธ์ห้าได้ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ต้อง “เข้าใจถึงใจ” ว่า...
“สังขารและวิสังขารมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ โดยไม่มีตัวเราอยู่ในนั้น เพราะไม่เคยมีตัวเรามาตั้งแต่แรก”
จึงไม่มีใครต้องไปจัดการอะไรกับสังขาร หรือวิสังขาร !!!
แค่รู้ เห็น เข้าใจการทำงานของสังขาร กับวิสังขารโดยไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ เท่านั้นก็เพียงพอที่จะพ้นทุกข์แล้ว...
แค่นี้เอง แค่นี้เอง จริง ๆๆๆ… นะ
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561