ขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อ ความเข้าใจตรงกัน จะได้หาภาษามาแปลให้ตรงกับความหมาย
“ความสงบ” มีสองนัย คือ
ความสงบ สลับหน้ากับ ความเคลื่อนไหว คือ เมื่อความเคลื่อนไหวหยุดลง ก็เป็น “ความสงบ”
เมื่อมีความเคลื่อนไหวใหม่ ความสงบก็หายไป
ดังนั้น ทั้งความสงบ และ ความเคลื่อนไหว จึงเป็นสังขารปรุงแต่ง เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติภายนอกและภายในใจ
“ความสงบ” อีกชนิดหนึ่ง หมายถึง วิสังขาร คือ ธรรมชาติที่ไม่มีอะไรปรากฏ ไม่มีตัวตน ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดอยู่ มันจึงเป็นธรรมชาติที่เป็นความสงบอย่างบริสุทธ์โดยธรรมชาติแท้ ๆ ของเขาเอง และสิ่งนี้แหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ หรือ พ้นทุกข์ หรือ นิพพาน
เห็นความเคลื่อนไหวในความสงบ ซึ่ง “ความสงบ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง จิตตสังขาร ที่สงบ แล้วไม่สงบ สลับหน้ากัน แต่หมายถึง “วิสังขาร “ ซึ่งเป็นความสงบที่ไม่ใช่สิ่งปรุงแต่งหรือเป็นสังขาร แต่เป็นความสงบตามธรรมชาติแท้ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดดับชั่วนิจนิรันดร์
แต่ถ้า มีผู้ยึดถือ ความสงบ ที่เป็น “วิสังขาร” ก็จะไม่เป็นนิพพาน เพราะเมื่อมีผู้หลงยึดถือ วิสังขาร ก็จะเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติ .. และความทุกข์
ดังนั้น “นิพพาน” จึงหมายถึง ไม่มีผู้ยึดถือทั้งสังขาร และ วิสังขาร
เมื่อ สิ้นผู้ยึดถือ จึงไม่มีผู้ทุกข์ เรียกชื่อ สมมติว่า “นิพพาน” จึงไม่มีใครเรียก “วิสังขารว่า ‘นิพพาน’”
เพราะ “นิพพาน” ไม่มีผู้ยึดวิสังขาร และไม่มีผู้ยึดสังขาร
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีผู้ยึดทั้งสังขารและวิสังขาร หรือ นิพพานแล้ว
ใจซึ่งเป็นวิสังขาร ก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์คือไม่มีตัวตน ไม่ปรุงแต่ง ไม่ปรากฏอะไรเลย ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดอยู่ มันจึงเหมือนกับความว่างเปล่าของธรรมชาติ หรือจักรวาล ที่ไม่มีตัวตนไปยึดถือสิ่งใดให้เป็นทุกข์ได้ เขาจึงเรียกธาตุวิสังขารว่า นิพพานธาตุ
โอวาทธรรมหลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561