ปรารภเหตุสืบเนื่องมาจากโอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สนทนาธรรมกับ พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)
พระธรรมเจดีย์ : ... สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความในเรื่องนี้ชัดเจนดีแล้ว แต่ขันธ์ ๕ นั้นยังไม่ได้ความว่า จะเกิดขึ้นทีละอย่าง สองอย่าง หรือว่าต้องเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์
พระอาจารย์มั่น : ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์
พระธรรมเจดีย์ : ขันธ์ ๕ ที่เกิดพร้อมกันนั้นมีลักษณะอย่างไร? และความดับไปมีอาการอย่างไร? ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวสักหน่อย
พระอาจารย์มั่น : เช่น เวลาเรานึกถึงรูปคนหรือ รูปสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง อาการที่นึกขึ้นนั้นเป็นลักษณะของ "สังขารขันธ์" รูปร่างหรือ สิ่งของเหล่านั้นมาปรากฎขึ้นในใจนี่เป็นลักษณะของ "รูปสัญญา"
ความรู้ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นนี่เป็นลักษณะของ "มโนวิญญาณ" สุข หรือ ทุกข์ หรือ อุเบกขาที่เกิดขึ้นในคราวนั้นนี่เป็นลักษณะของเวทนา มหาภูตรูป หรือ อุปาทายรูป ที่ปรากฎอยู่นั้น เป็นลักษณะของรูป
อย่างนี้เรียกว่า ความเกิดขึ้นแห่งขันธ์พร้อมกันทั้ง ๕ เมื่ออาการ ๕ อย่างเหล่านั้นดับไป เป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง ๕
พระธรรมเจดีย์ : ส่วนนามทั้ง ๔ เกิดขึ้นและดับไปพอจะเห็นด้วย แต่ที่ว่ารูปดับไปนั้นยังไม่เข้าใจ?
พระอาจารย์มั่น : ส่วนรูปนั้นมีความแปรปรวนอยู่เสมอ เช่น ของเก่าเสื่อมไปของใหม่เกิดแทน แต่ทว่าไม่เห็นเองเพราะ "รูปสันตติ" รูปที่ติดต่อเนื่องกันบังเสียจึงแลไม่เห็น แต่ก็ลองนึกดูถึงรูปตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้เปลี่ยนไปแล้วสักเท่าไร ถ้ารูปไม่ดับก็คงไม่มีเวลาแก่แลเวลาตาย
พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเราสังเกตขันธ์ ๕ ว่าเวลาเกิดขึ้นแลดับไปนั้น จะสังเกตอย่างไรจึงจะเห็นได้ แลที่ว่าขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นได้อีก ดูเป็นของคงที่ไม่เห็นมีความเสื่อม
พระอาจารย์มั่น : พูดกับคนที่ไม่เคยเห็นความจริงนั้นช่างน่าขันเสียเหลือเกิน วิธีสังเกตขันธ์ ๕ นั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จักอาการขันธ์ตามความเป็นจริง แล้วก็มีสติสงบความคิดอื่นเสียหมดแล้วจนเป็นอารมณ์อันเดียวที่เรียกว่า "สมาธิ"
ในเวลานั้นความคิดอะไร ๆไม่มีแล้ว... ส่วนรูปนั้นหมายลมหายใจ ส่วนเวทนาก็มีแต่ปีติหรือ สุข ส่วนสัญญาก็เป็นธรรมสัญญาอย่างเดียว ส่วนสังขารเวลานั้นเป็น "สติ" กับ "สมาธิ" หรือวิตกวิจารณ์อยู่
ส่วนวิญญาณก็เป็นแต่ความรู้อยู่ในเรื่องที่สงบนั้น ในเวลานั้นขันธ์ ๕ เข้าไปรวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว ในเวลานั้นต้องสังเกตอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎอยู่... เป็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์
พออารมณ์ปัจจุบันนั้นดับไปเป็นความดับไปแห่งนามขันธ์ ส่วนรูปนั้น เช่น ลมหายใจออกมาแล้ว พอหายใจกลับเข้าไปลมหายใจออกนั้นก็ดับไปแล้ว ครั้นกลับมาหายใจออกอีก ลมหายใจเข้าก็ดับไปแล้ว
นี่แหละเป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง ๕ แล้วปรากฎขึ้นมาอีก ก็เป็นความเกิดขึ้นทุก ๆ อารมณ์แล
ขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นดับไปไม่ใช่ดับไปเปล่า ๆ รูปชีวิตอินทรีย์ความเป็นอยู่ของนามขันธ์ทั้ง ๕ เมื่ออารมณ์ดับไปครั้งหนึ่ง ชีวิตแลอายุของขันธ์ทั้ง ๕ สิ้นไปหมดทุก ๆ อารมณ์
พระธรรมเจดีย์ : วิธีสังเกตอาการขันธ์ที่สิ้นไปเสื่อมไปนั้นหมายเอา หรือ คิดเอา?
พระอาจารย์มั่น : หมายเอาก็เป็นสัญญา คิดเอาก็เป็นเจตนา เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมาย ไม่ใช่คิด ต้องเข้าไปเห็นความจริงที่ปรากฎเฉพาะหน้าจึงจะเป็นปัญญาได้
พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเช่นนั้นจะดูความสิ้นไปเสื่อมไปของขันธ์ทั้ง ๕ มิต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวไปหรือ?
พระอาจารย์มั่น : ถ้ายังไม่เคยเห็นความจริงก็ต้องตั้งพิธีเช่นนี้ร่ำไป ถ้าเคยเห็นความจริงเสียแล้วก็ไม่ต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวก็ได้
แต่พอมีสติขึ้นความจริงก็ปรากฎเพราะเคยเห็นแลรู้จักความจริงเสียแล้ว เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาเวลาใด ก็เป็นสมถวิปัสสนากำกับกันไปทุกคราว
พระธรรมเจดีย์ : ที่ว่าชีวิตแลอายุขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นคือ สิ้นไปเสื่อมไปอย่างไร?
พระอาจารย์มั่น : เช่น เราจะมีลมหายใจอยู่ได้สัก ๑๐๐ หนก็จะตาย ถ้าหายใจเสียหนหนึ่งแล้วก็คงเหลืออีก ๙๙ หน หรือ เราจะคิดจะนึกอะไรได้สัก ๑๐๐ หนเมื่อคิดนึกเสียหนหนึ่งแล้ว คงเหลืออีก ๙๙ หน
ถ้าเป็นคนอายุยืนก็หายใจอยู่ได้มากหน หรือ คิดนึกอะไร ๆ อยู่ได้มากหน ถ้าเป็นคนอายุสั้น ก็มีลมหายใจ และ คิดนึกอะไร ๆ อยู่ได้น้อยหน ที่สุดก็หมดลงวันหนึ่งเพราะจะต้องตายเป็นธรรมดา
พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์ อย่างนี้จะเป็นปัญญาไหม?
พระอาจารย์มั่น : ถ้าคิดเอาหมายเอาก็เป็น"สมถะ" ที่เรียกว่า "มรณัสสติ" เพราะปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องหมาย หรือ เรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเป็นปัญญา
พระธรรมเจดีย์ : เมื่อจิตสงบแล้วก็คอยสังเกตดูอาการขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อจะให้เห็นความจริง นั่นเป็นเจตนาใช่ไหม?
พระอาจารย์มั่น : เวลานั้นเป็นเจตนาจริงอยู่ แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฎ เวลาที่ความจริงปรากฎขึ้นนั้นพ้นเจตนาทีเดียว ไม่เจตนาเลย เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษต่อจากจิตที่สงบแล้ว
พระธรรมเจดีย์ : "จิต" คู่กับเจตสิก "ใจ" คู่กับธัมมารมณ์ "มโนธาตุ" คู่กับธรรมธาตุ ๓ คู่นี้เหมือนกันหรือต่างกัน?
พระอาจารย์มั่น : เหมือนกันเพราะว่าจิต กับมโนธาตุ กับใจนั้นอย่างเดียวกัน ส่วนใจนั้นเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีท่านเรียกว่ามโน "เจตสิก" นั้นก็ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร "ธัมมารมณ์" นั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร "ธรรมธาตุ" นั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร
พระธรรมเจดีย์ : ใจนั้นทำไมจึงไม่ใคร่ปรากฎ เวลาที่สังเกตดูก็เห็นแต่เหล่าธัมมารมณ์ คือ เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง มโนวิญญาณ ความรู้ทางใจบ้าง เพราะเหตุไร ใจจึงไม่ปรากฎเหมือนเหล่าธัมมารมณ์ กับมโนวิญญาณ?
พระอาจารย์มั่น : ใจนั้นเป็นของละเอียด เห็นได้ยาก พอพวกเจตสิกธรรมที่เป็นเหล่าธัมมารมณ์มากระทบเข้าก็เกิดมโนวิญญาณ ถูกผสมเป็นมโนสัมผัสเสียทีเดียว จึงแลไม่เห็นมโนธาตุได้
ที่มาโอวาทธรรม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1007876973029609&id=100014219476776
~~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตา : ***** ธรรมนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก
~~~~~~~~~~~~~~~
โยมส่งการบ้านหลังจากได้อ่านโอวาทธรรม
โยม 1 : กราบนมัสการครับหลวงตา ธรรมที่หลวงตาเมตตาส่งให้วันนี้ล้วนเป็นธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งนัก จริง ๆ ทั้งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล และการอธิบายเรื่อง "การพิจารณาขันธ์ ๕" ขององค์หลวงปู่มั่น พ่อแม่ครูอาจารย์ใหญ่ ซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องที่หลวงตาเคยสอนไว้ก่อนหน้านี้ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
"... การเกิดดับของขันธ์ห้าที่สืบต่อกันเป็นสันตติ ไม่มีดวงจิตใดที่คงที่ล้วนเป็นอนิจจัง... ทุกขัง... อนัตตา... เวลาที่ความจริงปรากฎขึ้นนั้นพ้นเจตนาทีเดียวไม่เจตนาเลย เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษต่อจากจิตที่สงบแล้ว"
ตรงนี้อธิบายเรื่อง Set zero ได้ชัดเลยครับ ใจที่สงบ... พ้นเจตนา สัจธรรมทั้งที่เป็น"สังขาร" และ "วิสังขาร" ก็ปรากฏให้เห็น รวมถึง "จิตอวิชชา"
"...ปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องหมาย หรือ เรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฏเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเป็นปัญญา"
อันนี้อธิบายเรื่องปัญญาใจได้ดีเลยครับ และเลยไปจนถึง "สักแต่ว่ารู้" ได้เลยนะครับ
"... แต่พอมีสติขึ้นความจริงก็ปรากฎเพราะเคยเห็นแลรู้จักความจริงเสียแล้ว เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาเวลาใดก็เป็นสมถวิปัสสนากำกับกันไปทุกคราว"
อันนี้ถ้ามีสติก็ทำให้แจ้งแก่ใจได้ทุกครั้งเหมือนที่พ่อแม่ครูอาจารย์ และ หลวงตาเคยสอนอยู่เสมอว่า "สติตัวเดียว... อย่าหลาย"
รวมความแล้วการพิจารณาขันธ์ห้า เรื่องเดียว อธิบายสัจธรรมทั้งหมดเลยครับ
มี...ไม่มี
ไม่มี...มี
กราบขอบพระคุณในความเมตตาขององค์หลวงตาเป็นอย่างสูงครับ
กราบ กราบ กราบ
~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 2 : อ่านแล้วหนูติดอยู่นิดนึงเจ้าค่ะ ตรงที่โยม 1 เขียนว่า "รวมถึงจิตอวิชชา" แสดงว่าผู้เขียนแยกจิตอวิชชาออกจาก "สังขาร" และ "วิสังขาร" ซึ่งหนูคิดว่า "จิตอวิชชา" ก็รวมอยู่ในสังขารอยู่แล้วเจ้าค่ะ
หนูอาจจะเข้าใจผิดหรือเปล่าเจ้าคะหลวงตา?
หลวงตา : เขาเข้าใจถูกแล้ว
ในทางปฏิบัติ
“จิตอวิชชา” แยกออกจากสังขาร และ วิสังขาร คือ ถ้ารู้เห็นสังขารเกิดดับในความไม่เกิดดับ (วิสังขาร) แต่ยึดมั่นถือมั่นว่าเรา หรือ ตัวเราเป็นผู้รู้
ผู้รู้นี้ จะเป็น "จิตอวิชชา"
แต่ถ้าผู้รู้ไม่ปรากฏ คือ ไม่มีกิริยา หรือ อาการใดเลย... ผู้รู้นี้ จะเป็น “พุทธะ” หรือ “จิต หรือ ใจบริสุทธิ์” จะไม่ยึดทั้งสังขาร และ วิสังขาร
โยม 2 (ต่อ) : แต่ผู้รู้เป็นสังขารไม่ใช่หรือเจ้าคะหลวงตา
ผู้รู้ไม่ปรากฏ คือ เป็น "รู้" ที่ไม่มีเรารู้ ที่หลวงตามักสอนอยู่เสมอ ๆ
"จิตอวิชชา" ไม่ได้เป็นสังขารหรือเจ้าคะ?
หลวงตา : “จิตอวิชชา” เป็นสังขาร
แต่ทางปฏิบัติจะหลงว่า “จิตอวิชชา” ไม่ใช่สังขาร คือ จะแยกตัวเราผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเราออกมารู้เห็นสังขารเกิดดับในความไม่เกิดดับ แต่ตัวเราผู้ตั้งรู้... ผู้พยายามรู้... ผู้เจตนารู้... ผู้จงใจรู้... ผู้ตั้งใจรู้... ไม่เกิดดับไปเหมือนสังขารอื่น ๆ
โยม 2 (ต่อ) : กราบขอบพระคุณหลวงตาเป็นอย่างสูงเจ้าค่ะ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
15 พฤศจิกายน 2563
~~~~~~~~~~~~~~~