ปรารภเหตุจากโอวาทธรรม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
เราได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อหลักของกัมมัฏฐานที่ได้รับจากพระอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น) ที่ว่า...
"สพฺพสงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา"
ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้วความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะมิได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และ สภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มี... ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร
ที่มาโอวาทธรรม
FB : หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม https://www.facebook.com/1898368500423171/posts/2747848325475180/
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
คำถามโยมหลังจากได้อ่านโอวาทธรรม
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
โยม 1 : อวิชชาสิ้นไป สังขารก็สิ้นตาม แต่ทำไมใช้คำว่าเมื่อ "สังขารขันธ์" ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี ครับหลวงตา?
โยม 2 : จากข้อความ "ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และ สภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มี"
หลวงตาเจ้าคะ แสดงว่าถ้าหยุดปรุงแต่งแล้ว แต่ยังมีความเป็นตัวเราอยู่ได้อีกใช่ไหมเจ้าคะ?
โยม 3 : กราบนมัสการท่านพระอาจารย์เจ้าค่ะ
ที่ท่านหลวงพ่อชาสอนว่า ตราบใดที่ยังมีตัวตนก็ยังมีการปรุงแต่ง... แสดงว่าการ "รู้สักแต่ว่ารู้" นั้น (เพราะไม่หลงไหลไปยึดถือการปรุงแต่งของจิต) แต่เมื่อใด ที่หยุดปรุงแต่งในจิตจริง ๆ นั้นถึงจะสิ้นตัวตนจริง ๆ และจะรู้ได้เองเลยใช่ไหมเจ้าคะ
หรือ ในทางกลับกัน คือ "สิ้นตัวตน ก็สิ้นปรุงแต่ง" ใช่ไหมเจ้าคะ
สภาวะธรรมในจิตโยมตอนนี้ มันได้แต่ "สักแต่ว่ารู้" ไปเรื่อย ๆ ๆ แม้น้อยนิด... ก็สามารถสังเกตได้ ก็ได้แต่รู้เท่าทันไปเรื่อย ๆ ๆ รู้สึกว่า สติปัฏฐานสี่ ทั้งหมวดกาย... เวทนา... จิต... ธรรม มันถูกพิจารณาไปตามเหตุปัจจัย และได้แต่สักแต่ว่ารู้เจ้าค่ะ ขอท่านพระอาจารย์เมตตาชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะเจ้าคะ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงเจ้าค่ะ
อ่านโอวาทธรรมหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่โยม 3 กล่าวถึง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3517060005046594&id=100002278860646
~~~~~~~~~~~~~~~
หลวงตา : ธรรมนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก
กราบขอโอกาสอธิบายขยายความตามธรรมข้างต้นของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอเป็นแนวทางศึกษา และ นำมาประพฤติปฏิบัติต่อไป
คำว่า เมื่อพิจารณาธรรมว่า...
"สพฺพสงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา"
(สังขาร และ สัญญาทั้งมวลในขันธ์ห้าล้วนเป็นอนัตตา )
"...ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะมิได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง"
***(น่าจะหมายถึง “อนุปาทิเสสนิพพาน”) คือ ขณะที่ขันธ์ห้าดับ (ตาย) ถ้าความปรุงแต่งยึดถือไม่มี... ความเป็นตัวตน (ที่จะไปเวียนว่ายตายเกิด) ก็จะไม่มี (วิญญาณดับไปเหมือนเปลวไฟสิ้นเชื้อ) หรือ ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะมิได้เข้าไปปรุงแต่ง (เพื่อความยึดถือ)
แล้วความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร
ส่วนธรรมที่ว่า...
"... ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และ สภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มี" (น่าจะหมายถึง “สอุปาทิเสสนิพพาน”) คือ นิพพานในขณะที่ยังไม่ตาย
เพราะเกิดความรู้แจ้งในขั้นตอนของ "อนุปาทิเสสนิพพาน" ดังกล่าว*** จึงรู้แจ้งแก่ใจว่าแม้สัญญา... สังขาร... ในขันธ์ห้ายังไม่ดับ ถ้าความปรุงแต่งยึดถือไม่มี สภาพแห่งความเป็นตัวตนก็จักไม่มี แล้วความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร
ดังนั้นแม้สังขารของขันธ์ห้ายังมีอยู่ ถ้าความปรุงแต่งยึดถือไม่มี ตัวตนก็จักไม่มี
ซึ่งจะสิ้นความหลงยึดถือได้ ก็ต่อเมื่อสิ้น “อุปาทานขันธ์ห้า” มีเพียงกรณีนี้เท่านั้นอย่างอื่นนอกจากนี้ไม่มี
จะสิ้นอุปาทานขันธ์ห้าได้ ก็ต้องมีสติ... สมาธิ... ปัญญา... รวมเป็นหนึ่ง หรือ อริยมรรคมีองค์ 8 รวมเป็นหนึ่งที่ใจ เรียกว่ามรรคสามัคคี หรือ มรรคสมังคี รู้แจ้งด้วยใจ (วิมุตติญาณทัสสนะ) ในปัจจุบันขณะว่า...
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
หรือ ตามธรรมที่ปรากฏแก่หลวงปู่มั่นที่ให้แก่หลวงปู่ดูลย์ว่า
“สพฺพสงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา”
จึงเกิด “นิพพิทา” (เกิดความเบื่อหน่ายจากความหลงยึดถือขันธ์ห้าให้เป็นทุกข์) “วิราคะ” (ใจหมดยางเหนียว) สิ้นอวิชชา... ตัณหา... อุปาทาน “วิมุตติ” (หลุดพ้น)
หรือ รู้แล้วติดเป็น "สมมติ" รู้แล้วไม่ติดเป็น "วิมุตติ"
“สันติ” (ความสงบ)
นตฺถิ สนฺติปรงฺ สุขงฺ (สุขใดเล่า... จะเหนือกว่าความสงบเป็นไม่มี)
“นิพพาน” พ้นทุกข์... ดับ... เย็น
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
14 พฤศจิกายน 2563
~~~~~~~~~~~~~~~