ปฐมเหตุสืบเนื่องจากโอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา เรื่อง “อรรถาธิบายข้อสงสัยในนิพพานสูตร” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 (อ่านรายละเอียดจากเว็บไซต์ตามลิ้งก์ด้านล่างนี้)
โยม : กราบนมัสการขอโอกาสองค์หลวงตาเจ้าค่ะ
จากปุจฉาวิสัชนาเรื่อง “อรรถาธิบายข้อสงสัยในนิพพานสูตร” ที่องค์หลวงตามีเมตตาอรรถาธิบายไว้ มีจุดที่สงสัยตรงจุดนี้เจ้าค่ะ
“เนวสัญญานาสัญญายตนะ” (ภาวะที่มีความจำก็ไม่ใช่ หรือ ไม่มีความจำก็ไม่ใช่)?
หลวงตา : ที่จริงมี “สัญญา” สังขารในขันธ์ห้ามีอยู่เพราะยังไม่ตาย แต่เมื่ออยู่ในฌานนี้ ไม่สามารถเอาสัญญา และ สังขารที่มีอยู่มาใช้ได้ มีแต่ความรู้อยู่ แต่สั่งขันธ์ห้าไม่ได้
เช่น เมื่อยังไม่ครบกำหนดตามที่อธิษฐานจิตไว้ ขันธ์ห้าจะเหมือนคนโดนวางยาสลบ แต่ต่างกันตรงที่มีความรู้อยู่ภายในแต่เชื่อมกับขันธ์ห้าไม่ได้ ต้องครบกำหนดที่กำหนดไว้กี่วัน ขันธ์ห้าจึงจะทำงานตามปกติ
โยม : กราบสาธุที่เมตตาขยายความเจ้าค่ะ แต่ก็ยังงงอยู่ดีว่า... “จิตไม่ปรุงแต่ง” แล้วจิต หรือ “วิญญาณขันธ์” โดยปกติต้องทำงานร่วมกับเวทนา สัญญา สังขาร แล้วทำไมถึงทำแบบนี้ได้เจ้าค่ะ เพราะขนาดหลับยังทำงานเป็นความฝันเลยเจ้าค่ะ
หลวงตา : ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “จิตเดิมแท้” หรือ “วิญญาณธาตุ” หรือ “ธาตุรู้” พ้นจากกระบวนการทำงาน (สังขาร) ของขันธ์ห้า แต่ยังไม่นิพพานเพราะมี “อวิชชา” ห่อหุ้มธาตุรู้ คือ ยึดจิตเดิมแท้ หรือ วิญญาณธาตุ หรือ ธาตรู้ ว่า... เราเป็น “ผู้รู้” หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา... เป็นของเรา
โยม : ถ้าเช่นนั้น หมายถึงใน “อรูปฌาน ๔” นี่ต่างจากนิพพาน คือ ธาตุรู้มีอวิชชา กับ ไม่มีอวิชชาเท่านั้นหรือเจ้าคะ?
อันนี้ใช่ที่เคยได้ยินเค้าเรียกกันว่า “นิพพานพรหม” หรือไม่เจ้าคะ?
หลวงตา : ใน “อรูปฌาน ๔” พ้นจากสังขาร หรือ ขันธ์ห้า จึงไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์จึงเรียกว่า “นิพพานพรหม”
แต่ไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์เฉพาะขณะอยู่ในฌานนี้ ถ้าตายในฌานนี้จะไปเกิดชั้น “อรูปพรหมที่ ๔” เช่น อุทกดาบส อาจารย์ที่สอนอรูปฌาน ๔ พระพุทธเจ้า ตายแล้วไปเกิดในอรูปพรหม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉิบหายแล้ว”
ใน “อรูปฌาน ๔” นี่ต่างจาก “นิพพาน”
คือ ธาตุรู้ “มีอวิชชา” กับ “ไม่มีอวิชชา” เท่านั้น
เพราะยังยึด “จิตเดิมแท้” หรือ “ธาตรู้” ในอรูปฌาน ๔ ว่าเป็นเรา... ตัวเรา... ของเรา... แต่ละท่านจึงชอบเข้าไปอยู่ในฌานนี้
มีผู้มาแจ้งว่าหลวงตาองค์หนึ่ง... (จำชื่อไม่ได้) มรณภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เปล่งวาจาว่า “ฉิบหายแล้ว”
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโน วัดป่าหนองแซง ท่านเข้าใจว่าถึงนิพพานแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่าเสวยวิมุตติสุขในนิพพาน เป็นเวลาสามวัน
เมื่อพบหลวงปู่มั่น โดนท่านดุเอาว่า
“ผิดแล้ว เอาหัวหน้าโจรเป็นเจ้าเรือน”
พวกเทวดาชั้นพรหมนี้ตายแล้วสามารถตกนรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายได้ เพราะยังไม่ได้มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งแก่ใจว่า สังขาร หรือ ขันธ์ห้า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...
ปล่อยวาง (สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น) ไปหนึ่งในสี่ส่วนเป็นธรรมขั้นพระโสดาบันจึงจะปิดอบาย
ท่านจึงเปล่งวาจาว่า “ฉิบหายแล้ว” เพราะอุตส่าห์ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้ฟังพระสัทธรรมจากผู้รู้จริง ซึ่งสองอย่างนี้เป็นการยากที่สุดในโลก แต่ไม่ได้ลิ้มรสพระธรรมซึ่งเป็นรสที่เลิศที่สุด ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในอบาย และ ต้องติดแช่อยู่ในชั้นอรูปพรหมนานหลาย ๆ... ล้านปี
ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกหลายพระองค์ก็ไม่มีโอกาสได้พบได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าอีก
โยม : องค์หลวงตาเจ้าคะ “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือ การเข้า “นิโรธสมาบัติ” ในพระอรหันต์หรือเปล่าเจ้าคะ จะต่างจาก “เนวสัญญานาสัญญายตนะ”
หลวงตา : “สัญญาเวทยิตนิโรธ” หรือ “นิโรธสมาบัติ” เป็นความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ตลอดเวลา มีได้เฉพาะพระอรหันต์ เพราะต้องสิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือ สิ้นหลงยึดจิต หรือ ใจเดิมแท้ หรือ วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) ว่าเป็นเรา... ตัวเรา.... ของเรา... จึงจะเป็น “นิโรธ” (พ้นทุกข์)
ส่วน “สมาบัติ” แปลว่ามีความต่อเนื่อง
ดังนั้น ผู้พ้นทุกข์ได้อย่างต่อเนื่องจะมีได้เฉพาะ "พระอรหันต์" เท่านั้น
ท่านจะหลับตา หรือ ลืมตาก็ได้เหมือนกันเพราะพ้นทุกข์ หรือ นิพพานที่ใจ
ไม่ใช่ที่ลืมตา... หลับตา...
เมื่อพระอรหันต์ท่านสิ้นยึดเป็นตัวตน เป็นเรา... ตัวเรา... ของเราแล้ว
ท่านจึงพ้นจาก “เจตนา” ที่จะเข้า หรือ ออกจาก “นิโรธสมาบัติ”
ต่างจาก “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” ซึ่งเป็น “ฌาน” จะต้องหลับตาและอยู่ในสภาวะนั้นได้เท่าตามที่อธิษฐานจิตไว้
เคยโพสต์ไปแล้ว เป็นของหลวงปู่จวน กุลเชษโฐ ที่กล่าวถึงหลวงปู่มั่น
หมายเหตุ : อ่านเนื้อหาโพสต์เรื่อง “นิโรธของพระอริยเจ้า” หลวงปู่จวน กุลเชษโฐ ที่องค์หลวงตากล่าวถึง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3340969499322313&id=100002278860646
โยม : สาธุ สาธุ สาธุ น้อมกราบนมัสการยิ่งเจ้าค่ะ... กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากสนทนาธรรมกับคณะศิษย์
วันที่ 3 กันยายน 2563
~~~~~~~~~~~~~~~
อ่านพระสูตรที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม
อรูปาวจรกุศล อรูปฌาน ๔
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=34&item=192&items=1&preline=0
นิโรธสูตร ว่าด้วย “สัญญาเวทยิตนิโรธ”
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=6062&Z=6078&pagebreak=0
~~~~~~~~~~~~~~~