นิพพานสูตร ที่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และ พระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ
อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ
พุทธอุทาน นิพพานสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3977&Z=3992&pagebreak=0
--------‐---------------------
โยมกราบขอโอกาสองค์หลวงตา เมตตาอรรถาธิบายขยายความเข้าใจในพระสูตร
---‐-‐------------------------
โยม : เกล้ากระผมปัญญาน้อย ไม่เข้าใจครับ กราบพ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยเมตตาอธิบายเพิ่มเติม
"โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และ พระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น" ตรงนี้ครับ
โลกนี้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ต้องรับรู้ในอายตนะไม่ใช่หรือครับ หรือ แปลว่าไม่เที่ยง เลยไม่มีจริงครับ
อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ แปลว่าไม่มีผู้เสวยใช่ไหมครับ?
กราบ กราบ กราบ
หลวงตา : กราบประทานขออนุญาตขยายความตามธรรม
"อายตนะ" ในที่นี้ คือ "ใจ (นิพพานธาตุ)"
เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ แต่มีอยู่จริง... รู้ได้ด้วยใจนิพพานเท่านั้น
ผู้ที่ถึงซึ่งใจนิพพาน (วิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ธรรมธาตุ นิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ) แล้วเท่านั้น จึงรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ หรือ จิตตสังขาร โดยไม่ปรากฏผู้รู้
“ผู้รู้” หรือ “ใจ” จึงเป็นอายตนะที่มีอยู่จริงแต่ไม่ปรากฏ
เมื่อไม่ปรากฏจึงไม่มี ดิน น้ำ ไฟ ลม
"อากาสานัญจายตนะ" (ความว่าง แต่ในความว่างยังรู้สึกมีร่างกาย และจิต หรือ วิญญาณ)
"วิญญาณัญจายตนะ" (ความว่าง แต่ในความว่างยังมีความรู้สึกว่ามีจิต หรือ วิญญาณที่คิดตรึกตรองปรุงแต่งวิพากษ์วิจารณ์)
"อากิญจัญญายตนะ" (ความว่าง แต่ยังมีอวิชชา คือ ยึดผู้รู้ความว่างเป็นเรา ตัวเรา ของเรา)
"เนวสัญญานาสัญญายตนะ" (ภาวะที่มีความจำก็ไม่ใช่ หรือ ไม่มีความจำก็ไม่ใช่)
โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และ พระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะ (นิพพานธาตุ) นั้น อายตนะนั้นไม่มีการมา การไป การตั้งอยู่ การจุติ (ตาย) การอุปบัติ (เกิด) อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป (ไม่เกิดดับไม่เปลี่ยนแปลง) หาอารมณ์มิได้
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ (นิพพาน)
*****หมายเหตุ ;
อากิญจัญญายตนะ (ความว่าง) แต่ยังมี “อวิชชา” คือ ยึดผู้รู้ความว่างเป็นเรา ตัวเรา ของเรา
ถ้าสิ้นยึดผู้รู้เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา ก็จะมีแต่รู้ ซึ่งเป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ธรรมธาตุ นิพพานธาตุ สุญญตาธาตุ โดยไม่ปรากฏผู้รู้
ก็จะสิ้นผู้เสวย หรือ สิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น
ไม่มีตัวผู้ยึดทั้งสังขาร วิสังขาร ธรรม และ นิพพาน จะสิ้นกิเลส พ้นทุกข์ (นิพพาน)
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา
31 สิงหาคม 2563
~~~~~~~~~~~~~~~