ไม่ได้ปล่อยวางผู้รู้ ไปยึดเอาผู้รู้เป็นตัวเรา เอาตัวเราเป็นผู้รู้ที่ยืนพื้นไว้
มันก็จะเหมือนกับว่า เราไปยืนดูรถที่อยู่บนถนน เราไปยืนดูรถในกรุงเทพ รถในกรุงเทพวิ่งไปวิ่งกลับเยอะมากเลย เราไปยืนดูรถอยู่ริมถนน รถแต่ละคันวิ่งไปวิ่งมาเกิดดับ ๆ ๆ เหมือนลมหายใจเข้าออก เหมือนจิตเกิดดับ ๆ ๆ
ผู้ดูผู้รู้ก็เห็นหมดเลยเห็นสิ่งเกิดดับ ๆ ๆ หมด เห็นกายก็เกิดดับ ๆ เห็นจิตก็เกิดดับ ๆ ๆ หมด ไม่ใช่ว่าไปไล่ดูมันเกิดดับ เกิดดับเดี๋ยวนี้ ๆ ๆ ไม่ใช่นะ! หลายคน ไปทำแบบนี้ปวดหัวตาย
เห็นเป็นธรรมชาติ เกิดเองดับเอง ๆ โดยธรรมชาติอย่างนี้ แต่เห็นแบบนี้ไม่ติดรถไปสักคัน รถสังขารน่ะไม่ติดไปเลย ไม่กระโดดขึ้นรถสังขารไปสักคันเดียว แล้วก็ไม่ทำผิด คือไปคอยเป็นจราจรห้ามรถ อาการอันนี้จิตมีลักษณะแบบนี้ ชอบ... เอาไว้ตรงนี้อย่าไป ๆ ๆ ที่ไม่ชอบ... ไป ๆ ๆ พวกเราชอบปฏิบัติแบบนี้ พอจิตที่มันไม่ชอบ อาการของจิตที่ไม่ชอบ ผลักไส ไป... รีบไปเร็ว ๆ รีบไปเร็ว ๆ พออาการของจิตอันไหนโปร่งโล่งเบาสบาย สงบ ว่าง สบาย ชอบ ๆ ชอบ... เอาไว้ ๆ ๆ กักไว้ กักรถไว้
เราชอบปฏิบัติไม่ซื่อ ลำเอียง ดีรักชั่วชังเกลียดทุกข์รักสุข เราทำแบบนี้กันปฏิบัติน่ะ มันไม่ซื่อ!! ท่านถึงบอกว่า ฮูซือ ๆ รู้ซื่อ ๆ รู้จิตซื่อ ๆ ก็บรรลุนิพพานไป รู้ซื่อ ๆ รู้จิตซื่อ ๆ เราไม่ซื่อไง ดีรักชั่วชังเกลียดทุกข์รักสุข เกลียดทุกข์รักสุขดีรักชั่วชัง
ทีนี้พอเราซื่อ ๆ แล้วก็เลยเห็นรถมันดี ไม่ดี มันก็วิ่งไปวิ่งมาวิ่งไปวิ่งมาเกิดดับเอง เกิดเองดับเอง ไม่ติดรถไปเลย แล้วไม่ไปกักห้ามไว้ แล้วก็ไม่หลงติดไป... ได้แต่รู้ ก็บรรลุพระโสดาบัน
จึงมาเห็นว่า ไอ้ผู้เฝ้ายืนดูเนี่ยคือตัวปัญหา เพราะอย่างอื่นไม่มีปัญหาแล้วไง รถทุกคันไม่มีปัญหาแล้ว กายกับจิตไม่มีปัญหาแล้ว แต่มันมีปัญหาที่ตัวเราที่เฝ้ายืนดู ยืนรู้ มันยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่ามันไม่เลิกเฝ้า มันก็ต้องทุกข์อยู่นั่นแหละ
จึงเห็นผู้เฝ้าดูเนี่ยเป็นตัวปัญหาเป็น “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน”
ยังเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นผู้รู้ ผู้รู้เป็นเรา เราเป็นผู้ดูเป็นผู้รู้ ก็ให้เห็นว่า "กิริยาที่เป็นผู้ดูผู้รู้" นั่นแหละ มันเป็นสังขาร มันเป็นสังขารที่ละเอียดที่สุด มันเป็นความปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่เกิดดับ
เพราะอะไร? เพราะตอนที่เราดูอยู่เนี่ย ไม่เคยพลาดจากการรู้เห็นจิตและลมหายใจเข้าออกเลย แต่พอมีเพื่อนมาคุยหรือนอนหลับปุ๊บ! อ้าว เฮ้ย… ผู้รู้ดับไปตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย แต่พอรู้สึกตัว... เราดูจนชำนาญไง พอรู้สึกตัวตายังไม่ลืมเลย ดูต่อเหมือนกับดูรถอยู่บนท้องถนนต่อ ยังไม่ทันจะลืมตาเลยเหมือนกับลุกไปยืนข้างถนนแล้ว ไปดูจิตเกิดดับดูลมหายใจเกิดดับ เกิดเองดับเอง ๆ คือผู้รู้ไปตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตาเลย ไปแล้ว ไปรู้แล้ว
แต่พอมีเพื่อนมาคุย หรือมีเรื่องอะไรที่จะต้องไปคิด อ้าว… ผู้รู้หายไปแล้ว โห… ผู้รู้เกิดดับได้นี่หว่า ไม่ใช่ว่าลมหายใจเกิดดับ จิตเกิดดับ ผู้รู้นี่แหละก็เกิดดับ!! นีกว่าไม่เกิดดับนึกว่าผู้รู้มันคงที่
สุดท้ายพอเห็นผู้รู้เกิดดับแค่นั้นแหละ ท่านก็บรรลุนิพพานไปเลย
เลยเรามาเข้าใจเอาว่า พระพุทธเจ้าจึงต้องมาสอน “อนัตตลักขณสูตร” ต่อ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
คือ "วิญญาณ" ในขันธ์ที่ห้าที่เป็นผู้รู้เนี่ย ไปรับรู้แล้วก็ต้องมีเจตสิกเข้าผสม เรียกว่าจิตดวงหนึ่ง ๆ ๆ งั้นตัวเองไปรู้อะไรเขาเนี่ย ไปรู้จิตเกิดดับ รู้ลมหายใจเกิดดับ แต่แท้จริงผู้รู้ก็เกิดดับ***
ขันธ์ห้าจนกระทั่งมาถึงวิญญาณขันธ์ในขันธ์ที่ห้า ที่มันละเอียดที่สุดแล้ว เพราะว่ารูปนี่ก็ยังหยาบ เวทนาก็อารมณ์ความรู้สึกที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ ผ่องใสเศร้าหมอง หรือเป็นกลาง ๆ มันก็ยังหยาบรองลงมา สัญญา สังขาร คือความจำความคิดก็ยิ่งละเอียดเข้าไปอีก แต่พอวิญญาณที่เป็น “ผู้รู้” อันนี้ละเอียดมาก ๆ เลย
เพราะว่ากายมันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้...คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แต่ตัวมันเอง (วิญญาณ) เป็นผู้รู้ยืนคาไว้เลย จนไปเห็นว่าผู้รู้เนี่ยมันก็เป็นวิญญาณขันธ์ในขันธ์ที่ห้า ที่มันทำงานร่วมกับเจตสิก แล้วมันก็เป็นสิ่งเกิดดับ แล้วจึงปล่อยวางขันธ์ทั้งห้า จนถึงวิญญาณขันธ์ ผู้รู้ที่ละเอียดที่สุด แล้วก็พ้นจากขันธ์ห้า
มาเป็น “ธาตุรู้” ที่พ้นขันธ์ห้า หรือเรียกว่าเป็นจิตเดิมแท้ ๆ หรือเป็นใจดั้งเดิมแท้ ๆ หรือใจที่บริสุทธิ์ที่พ้นจากขันธ์ห้ามา พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ มันยังไม่จบ แต่ในทางพระสูตรจบแค่นี้แล้วก็บรรลุอรหันต์แล้ว พอจบอนัตตลักขณสูตรก็บรรลุอรหันต์แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ ไม่จบ! มันมาถึงใจที่มันไม่ปรุงแต่งแล้ว ไม่ปรุงแต่งแม้แต่แสดงกิริยาอาการเป็นผู้ดูผู้รู้แล้ว มาถึงใจที่เรียกว่า "ว่างงาน" ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ เรียกว่า “นิพพาน” คือจิตหรือใจว่างงาน เหมือนคนปลดเกษียณแล้ว พอปลดเกษียณแล้วก็ไม่ต้องทำงาน ว่างงาน ไม่ได้ทำงานแม้แต่ไปคอยรู้ด้วยนะ ไม่ได้ทำงานคอยพยายามจะทำอะไรให้เป็นอะไร
เพราะว่าว่างงานที่พยายามจะทำอะไรให้เป็นอะไรแล้ว แล้วก็ว่างงานที่พยายามไปคอยดูรู้ละ ไปคอยดูรถ เหมือนดูจิตเกิดเองดับเอง ไม่ไปยืนดูที่ริมถนนแล้ว ว่างงานแล้ว ไม่ไปทำงานที่เขาจ้างมาแล้ว เขาให้ไปยืนเฝ้าดูรถวิ่งไปวิ่งมาที่ริมถนน ไม่ไปทำงานแล้ว
นิพพาน คือจิตมันว่างงานทั้งไม่ไปเป็นรถที่วิ่งบนถนน และก็ไม่เป็นผู้ดูผู้รู้ที่ยืนอยู่ริมถนน เป็นจิตว่างงานคือเป็นจิตหรือใจดั้งเดิมแท้ ๆ ที่ไม่แสดงกิริยาอาการ ที่ไม่ปรากฏอาการอะไร แล้วก็รู้แก่ใจว่าบัดนี้มันว่างงานแล้ว เหมือนกับเราปลดเกษียณมาแล้ว เรารู้ว่าเราว่างงานแล้ว คือกลายเป็นจิตหรือใจที่ว่างงาน
***แต่แม้กระนั้น เมื่อพบจิตหรือใจที่ว่างงานแล้ว ผู้ปฏิบัติเมื่อพบแล้วอยากได้ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างถาวร เป็นจิตหรือใจที่ว่างงานอย่างถาวร ไม่อยากให้กลับไปทำงานอีก ก็จะพยายามกลับไปย้อนผิดพลาด คือกลับไปยึดเอาขันธ์ห้าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา แล้วเอาขันธ์ห้ากลับมายึดใจที่ว่างงาน แล้วพยายามมาบล็อกไว้ให้ใจมันว่างงานอย่างเป็นอมตะ ไม่ต้องทำงานตลอดไป
แต่ถ้าเราพิจารณาเสียให้ดี ใจมันว่างงานแล้วโดยธรรมชาติของมัน แต่มันมีตัวเกินมาคือ "ตัวเรา" ที่ไปอยากให้มันว่างงานอย่างเป็นอมตะ แล้วพิจารณาไป ๆ คนมีสติปัญญาถึงขั้นนี้แล้วมันก็ อ้าวเฮ้ย… ไหงเป็นอย่างนี้หว่า ไหนใจว่างงาน แต่ทำไมยังมีตัวเราไปเฝ้าสำนักงานหว่า มันว่างงานแล้วเราปลดเกษียณแล้ว เราไม่ได้เป็นคนทำงานแล้วไปทำงาน พอถึงเวลาเลิกงานคนในที่ทำงานไม่มี แต่เรากลับไปเฝ้าที่ทำงานที่ว่างเปล่าเฉยเลย ไหนบอกว่าว่างงานแล้วแต่ทำไมไปเฝ้า เฝ้าใจที่ไม่ทำงานเฝ้าจิตที่ไม่ทำงาน สุดท้ายเรากลับเข้าไปทำงานใหม่โดยไม่รู้ตัว
แต่ถ้าคนมีสติปัญญามันสังเกตออกว่า ไหนใจว่างงานแล้วแต่ทำไมยังมียามวะเนี่ย เราไปทำหน้าที่ยาม ทำหน้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ดี ๆ สุดท้ายบอกว่าว่างงานปลดเกษียณแล้ว แต่ว่างงานอะไรกลับไปเป็นยามให้เขาเฉยเลย ไปเป็นยามเฝ้าใจ เฝ้าจิตที่ว่างงานกลัวว่าเดี๋ยวมันจะไปทำงาน ไปเฝ้าไว้ให้มันไม่ทำงาน
แต่ที่เราไปเฝ้าให้จิตหรือใจไม่ทำงาน เราน่ะกลับไปเหนื่อยตามเดิม ยังเป็นความยึดถืออยู่ และก็รักษาสงวนใจที่บริสุทธิ์ไว้เพื่อจะให้มันบริสุทธิ์อย่างเป็นอมตะ ไม่ทำงานอย่างเป็นอมตะ แต่เราเลยกลายเป็นทำงานอย่างเป็นอมตะ เราเลยกลายเป็นทำงานอย่างนั้นน่ะเรื่อยไป ไม่ได้เป็นอมตะหรอก
อย่างนี้มันก็ไม่บริสุทธิ์ไม่เป็นความว่างโดยบริสุทธิ์ ไม่เป็นใจที่ว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากงาน ว่างเปล่าจากกิริยาโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็น “อกิริยา” โดยบริสุทธิ์*** ยังไปมีตัวเราเข้าไปเป็นกิริยาไปครอบครองเป็นเจ้าของมัน ไปเป็นยามเฝ้ามันอยู่
จนเราเห็นว่าตัวเราที่ไปเป็นยามเฝ้าใจที่บริสุทธิ์ อยากให้มันบริสุทธิ์อย่างเป็นอมตะ เป็นส่วนเกินของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ จึงถูกปล่อยวางไป ด้วยใจนั้นน่ะมันรู้เองว่า ไอ้นี่ส่วนเกิน ส่วนเกินยังทำงานอยู่ แล้วมันก็รู้เท่าทัน
แล้วผู้ที่ทำงาน “ตัวเราที่ยึดขันธ์ห้า” มาทำงานเป็นยามเฝ้าใจ ก็จะถูกปล่อยวางไป เหลือแต่ใจที่ไม่มีคนเฝ้า... เป็นอิสระที่แท้จริง
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย...
ถ้าจิตวิญญาณของเธอไม่ซ่านไปสยบติดสิ่งใดภายนอก คือ ทางประตูตา หู จมูก ลิ้นกาย ห้าประตูภายนอก
แล้วก็ไม่ซ่านไปสยบติดสิ่งใดภายใน คือประตูใจ คือธรรมารมณ์
ข้อสามไม่ยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้า หรือว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นแม้แต่ใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่น "สังขาร" และ "วิสังขาร" เพราะว่าขันธ์ห้าเป็นสังขาร ส่วนใจแท้ ๆ หรือ จิตแท้ ๆ เป็นวิสังขาร
ไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งสังขาร และวิสังขาร เมื่อนั้นเธอจะนิพพาน จะไม่มีตัวตนของเธอในโลกนี้ ไม่มีตัวตนของเธอในโลกหน้า เธอจะสิ้นกิเลสบรรลุพระนิพพาน
พระสาวกปฏิบัติตามก็บรรลุพระนิพพาน
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจากไฟล์เสียง
200223A2-2 ยามเฝ้าใจ
23 กุมภาพันธ์ 2563
ฟังจากยูทูป :
https://youtu.be/Y6XD-cTz2d0
~~~~~~~~~~~~~~~